นักวิชาการ จี้ 3 กระทรวงถกด่วนกรณีปลดล็อกอุทยานฯ

นักวิชาการโคราช จี้ 3 กระทรวงคุยกันด่วน หลังเกิดข้อถกเถียงกรณีกันพื้นที่เขตอุทยานฯ ทับลาน ให้รีสอร์ทกว่า 400 แห่งไปต่อได้

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมือง ออกมาเปิดเผยว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการเซ็นคำสั่งปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และนครราชสีมา โดยมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการใช้กลไกของ สคทช.เพื่อผลักดันให้มีการประกาศใช้แผนที่วันแมป (ONE MAP) โดยยึดแนวเขตอุทยานฯ ที่รังวัดเมื่อปี 43 ตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะทำให้พื้นที่อุทยานฯ ทับลานกว่า 2 แสนไร่ ถูกกันออกมา เพื่อกันพื้นที่ใฟ้รีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศกว่า 400 แห่ง ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หลุดพ้นคดีนั้น

ล่าสุด วันนี้ (14 ก.พ. 66) นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ต และ 2.กลุ่มหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี คงจะไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ซึ่งคนที่รู้รายละเอียดมาก ก็คงจะเป็นผู้ที่คุม 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ได้แก่ 

1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ สปก. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มาจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ดูเหมือนว่าทั้ง 3 รัฐมนตรี ยังไม่มีใครออกมาพูดอะไรเลย 

2.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็น รมว.กระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้คุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด 

และ 3.กระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นผู้อนุญาตให้สามารถประกอบกิจการเป็นโรงแรมและรีสอร์ต ว่าสามารถทำได้หรือไม่ คำถามขณะนี้คือรีสอร์ตต่างๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้ประกอบการรีสอร์ตได้หรือยัง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย จะดูแลเรื่องที่ดิน ซึ่งเรื่องที่ดินขณะนี้ก็มีปัญหาอยู่หลายแห่ง อย่างเช่น สำนักงานที่ดิน อ.ด่านขุนทด ที่ออกโฉนดมา 1,747 ไร่ ทั้งที่บริเวณนั้นเป็นเขตป่าสงวน ศาลตัดสินเมื่อสองวันก่อน ปรากฏว่าที่ดินแพ้ อย่างนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องโดน 157 หรือไม่ แล้วที่ดินนั้นเข้าสู่กระบวนการกลายเป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถนำกังหันลมต่างๆ มาวางได้ และยังมีกรณีที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งทางจังหวัดสั่งให้โรงแรมต่างๆ กว่า 100 แห่งหยุดกิจการ เพราะยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ทำให้กระทบนักท่องเที่ยวอย่างมาก

ดังนั้นการจะทำอะไรไม่เรียบร้อย จะมีผลกระทบต่างๆ ตามมาอีกมากมาย และเมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็จะมาออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่จบ เพราะผู้ประกอบการก็ถูกดำเนินคดี และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว และจะทำอย่างไร เนื่องจากเมื่อปี 56 ทาง สปก.ก็ได้ฟ้องรีสอร์ตหลายแห่งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วว่ารีสอร์ตผิด ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย และต้องรื้อถอนออกทันที แม้ว่าจะมีการยื่นอุธร และยื่นฎีกา ซึ่งก็มีบางรายหลุด แต่ก็มีหลายรายที่ยังไม่หลุด

หลังจากนั้นในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาใหม่ๆ เมื่อปี 62 ขณะนั้นฝ่ายค้านคือนายวัน มูหะหมัด นอร์มะทา ได้สอบถามนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ อ.วังน้ำเขียว มีคดีบุกรุกที่ดินอยู่กี่คดี ซึ่งนายวราวุธฯ บอกว่ามีอยู่ทั้งหมด 119 คดี ตอนนั้นถามว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ได้รับคำตอบว่าอยู่ในขั้นศาล ซึ่งวันนี้ก็อาจจะต้องมาถามต่อเช่นกัน และตอนนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมาดำรงตำแหน่งใหม่ๆ ฟิตมาก มาถึงก็ลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวเลย พร้อมกับประกาศเลยว่าจะยึดที่ สปก.คืนทั้งหมด แต่ตอนนี้ต้องมาถามอีกว่า เรื่องไปถึงไหนแล้ว

ซึ่งส่วนที่เจอคดีก็ยังคากันอยู่ และส่วนที่ยังไม่เจอคดีก็ยังมีอยู่อีกมากมาย ดังนั้นจะดำเนินการไปอย่างไรต่อ ผู้ประกอบการก็ต้องมีเสียเปรียบได้เปรียบ คนที่ถูกรื้อไปก็จะอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปรื้อของเขาผิดหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย จะสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นอีกมากมาย จริงอยู่เราอาจจะอยากให้ผู้ประกอบการดำเนินการต่อไป แต่ถ้ายังฝืนทำแบบผิดๆ ต่อไป ก็จะเหมือนที่เกิดขึ้นที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งโรงแรมกว่า 100 แห่งไม่มีใบอนุญาต ก็ต้องถูกสั่งปิดกิจการไปในที่สุด เพราะถ้าไม่สั่งปิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ผิด ม.157 ดังนั้นก็วกมาที่ อ.วังน้ำเขียว ถามว่ารีสอร์ตต่างๆ มีใบอนุญาตประกอบกิจการรีสอร์ตที่พักหรือไม่ เพราะการจะเปิดเป็นรีสอร์ตต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ หากไม่มีไม่สามารถเปิดได้เด็ดขาด

ดังนั้นเรื่องนี้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ต้องมาคุยกันโดยด่วนเลย อย่าให้ประชาชนสับสนคิดกันไปเอง เพราะราคาที่ดินอาจจะขึ้นไปแล้ว ใครที่ตัดสินใจซื้ออาจจะผิดหวังก็ได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นทั้ง 3 กระทรวงต้องคุยกันให้จบว่าที่ยังไม่รื้อจะเอาอย่างไร แล้วที่รื้อไปแล้วจะทำอย่างไร โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งตอนนี้ได้ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว ถ้ายังปล่อยให้เรื่องนี้คาราคาซังอยู่ จะกลายเป็นการเปิดจุดอ่อนให้พรรคฝ่ายค้านโจมตีอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องร้อนแรงยิ่งกว่ากรณีจะออกกฎหมายให้ชาวต่างชาติ สามารถมาซื้อที่ดินในเมืองไทยได้ ซึ่งตอนนั้นถึงกับถูกสังคมนำไปตีความว่าเป็นการขายชาติเลย

นายทวิสันต์ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าจะมีการออกคำสั่งกันแนวเขตรีสอร์ตและโรงแรม 418 รายออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นี้จริงตามข่าว ถือว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 รมว.วราวุธ ศิลปอาชา ปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ถือเป็นความกล้าหาญของกระทรวงนี้ วังน้ำเขียวโมเดล จะเป็นปัญหาของประเทศ เพราะขาดความรอบครอบ ประชาชนยังมีความสงสัย งานนี้อาจจะมีผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของผู้ตัดสินใจ ข้าราชการและประชาชนไม่เห็นด้วย คงออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแน่นอน

"ผมแปลกใจมาก คนในพื้นที่ไม่มีใครเคยได้ยินข่าวนี้เลย ถือเป็นการเร่งรีบอย่างน่าผิดสังเกตุ" นายทวิสันต์ กล่าว