ชาวเชียงใหม่นับพันร่วมส่ง "เจ้าดวงเดือน" ตามพิธีล้านนาโบราณ

เผาแล้ว! นับพันร่วมส่ง "เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่" เจ้านายฝ่ายเหนือที่ชาวเชียงใหม่เคารพรัก ตามแบบพิธีล้านนาโบราณ

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2566) ประชาชนชาวเชียงใหม่นับพันคนต่างพากันมาร่วมเดินขบวนแห่สรีระร่างและเครื่องสักการะแบบล้านนา เพื่อประกอบพิธีส่งสการตานคาบ "เจ้าดวงเดือน" ณ เชียงใหม่ หรือ "เจ้ายาย" เจ้านายฝ่ายเหนือที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพรัก และอดีตประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ อายุ 94 ปี ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

 

 

โดยมีการตั้งขบวนแห่เริ่มจากวัดพระสิงห์วรวิหาร กลางเมืองเชียงใหม่ เคลื่อนไปยังลานพิธีด้านหน้ากู่เจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสวนดอกพระอารามหลวง ภายในขบวนสางสการของเจ้าดวงเดือน ประกอบด้วย 15 ส่วน ได้แก่ กังสดาลนำขบวน ตุงสามหางใส่ห่อข้าวด่วน หม้อไฟเสี่ยงครูบาพระเถระเทศนาธรรมพื้นเมือง เสี่ยงรูปเจ้าดวงเดือน เสลี่ยงปีเกิดของเจ้าดวงเดือน ขันข้าวตกดอกไม้ ขันโตกผ้าไตรและขัยโตกดอกไม้จันทร์ หาบมะนาวสำหรับทิ้งทาน บุตรธิดาของเจ้าดวงเดือนเชิญเครื่องสักการะ เสลี่ยงเครื่องสักการะ วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา เสลี่ยงของใช้ของเจ้าดวงเดือน สามเณร 94 รูป ปานใช้ตีประกอบการเดิน ปราสาทห้ายอดเชิญสรีระเจ้าดวงเดือน วงแห่ปี่พาทย์ล้านนา และผู้มาร่วมงานเดินตามส่งสการ

 

ขบวนได้เริ่มจากวัดพระสิงห์ เลียบคูเมืองด้านใน โดยขบวนจะออกกำแพงเมืองที่ประตูแสนปรุง ประตูนี้นับแต่อดีตหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่จะต้องน้ำศพออกจากคูเมืองผ่านประตูนี้ เท่านั้นซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน จากนั้นก็จะเคลื่อนขบวนไปตามถนนผ่านโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เลี้ยวผ่านโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่วัดสวนดอก ซึ่งเป็นลานพิธี

 

 

"เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่" เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2472 ตรงกับวันวิสาขบูชา เป็นธิดาคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) กับ หม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย

 

เจ้าดวงเดือน มิได้เป็นบุคคลสายตรงในครอบครัวของผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ และไม่ได้เป็นบุคคลในครอบครัวของประธานราชตระกูล ณ เชียงใหม่ แต่เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่สืบเชื้อสายเจ้านายฝั่ง ณ ลำพูน โดยบิดาคือเจ้าเมืองชื่น ณ ลำพูน แต่ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ณ เชียงใหม่ โดยพระราชานุมัติในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าประเทศราชนพบุรีศรีนครพิงค์ ซึ่งต่อมา เจ้าเมืองชื่น ณ เชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าราชภาคินัย ในเวลาต่อมา

 

ข่าว ธนกร วงค์นาง จ.เชียงใหม่