"ปลัด มท." สั่งเตรียมพร้อมหนุนจัดเลือกตั้ง 66 ย้ำเตือน ขรก.วางตัวเป็นกลาง

"ปลัด มท." สั่งเตรียมพร้อมหนุนจัดเลือกตั้ง 66 ย้ำเตือน ขรก.วางตัวเป็นกลาง

"ปลัดมหาดไทย" สั่งเตรียมความพร้อม หนุนจัดเลือกตั้ง 66 ย้ำเตือน ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางเรื่องการเมือง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกรอบกฎหมาย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาค ส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวีทีซี โดยนายสุทธิพงษ์ ได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1. การเตรียมสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขอ โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประชุมซักซ้อมพร้อมกำชับ ข้าราชการทุกคนต้องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น สามารถร่วมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ได้ในช่วงนอกเวลาราชการ และต้องไม่ใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปใช้ในการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง

2. การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนผ่านการดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยการเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน

ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงด้านความสะอาด เพื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญของการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืน คือ การบูรณาการงานทุกอย่างในพื้นที่ภายใต้การบริหารงานของ “นายอำเภอ” ด้วยการมุ่งขับเคลื่อนการสร้าง “ทีมจิตอาสา” จาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ค้นหาผู้นำ 7 ภาคีให้ได้ เพื่อให้เกิด “ทีมอำเภอ” ที่มีความเข้มแข็ง และแม้ว่านายอำเภอจะย้ายไปรับราชการที่ใด หรือเกษียณอายุราชการ
 

โดยทีมเหล่านี้จะยังคงมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับอำเภอของพวกเขา เพราะพวกเขาคือคนที่มีจิตอาสาในพื้นที่ นอกจากนี้ นายอำเภอต้องพัฒนา “ทีมตามกฎหมาย” เช่น ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากร เกษตรตำบล สาธารณสุข และส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง รู้จักหน้าที่และทุ่มเทปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อย่างแข็งขัน

นอกจากนั้น ต้องกระตุ้นปลุกเร้า ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการระดมสรรพกำลังไปทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ชาวมหาดไทยทุกคนได้กำหนดร่วมกันที่จะเลือกหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน ให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”

และสำหรับหมู่บ้านอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบล ก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วยกัน เพราะนายอำเภอต้องดูแลประชาชนทุกตำบล และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลประชาชนทุกอำเภอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง