ราชกิจจาฯ ประกาศ พรฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ

ราชกิจจาฯ ประกาศ  พรฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พรฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 240 วัน หรือ 8 เดือนนับจากวันประกาศ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการ ที่ต้องแจ้งให้ทราบ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์จำนวนมาก ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น สมควรที่จะต้องกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการดังกล่าว เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน
 

โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการ ที่ต้องแจ้งให้ทราบ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแล เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และกำหนดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

อนึ่ง  "นายธนกร  วังบุญคงชนะ" รมต.สำนักนายกฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยให้ข้อมูลว่า  ครม.เห็นชอบ ร่างพรฎ.ฉบับดังกล่าว ด้วยวัตถุประสงค์สมควรที่จะต้องกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการดังกล่าว เพื่อรักษา ความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการ ที่ต้องแจ้งให้ทราบ

สาระสำคัญ  พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ  กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ที่ต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ เช่น “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
 

ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ จะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร

"สพธอ." มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เช่น การระบุหรือพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

"สพธอ." จัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ สามารถใช้เป็นช่องทางร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการให้บริการโดยแพลตฟอร์มฯ ขนาดเล็ก ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ ที่ประกอบธุรกิจก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ จะมีระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 30 วันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมเป็นเวลาทั้งหมด 210 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายธนกร  เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ เชื่อมต่อกันทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมีหลากหลายลักษณะประเภทธุรกิจ เช่น Online Marketplaces, Social Commerce, Food Delivery, Space sharing, Ride/Car Sharing, Online Search Engines, App Store ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ รวมทั้งคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มฯ

ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนด้วย ทั้งนี้ สพธอ. ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบตามพระราชกฤษฎีกานี้

ก่อนหน้านี้ "นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์ มีการซื้อขาย มีการโอนเงิน ต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจ  และจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องมีการพิสูจน์ตัวตน ยืนยันตัวตนทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ระบบการจ่ายเงิน/การโอนเงินก็ต้องใช้ระบบการยืนยันตัวตน 2 ชั้น 

อย่างไรก็ตาม พรฎ. ฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้มีการออกหลักเกณฑ์ ออกระเบียบ ออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด เพื่อไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชน 

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม : พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565