โปรดฯตั้งสมณศักดิ์ "พระอาจารย์อารยวังโส" จากพระครูฯ ขึ้นเป็น พระราชวัชรสุทธิวงศ์

โปรดฯตั้งสมณศักดิ์ "พระอาจารย์อารยวังโส" จากพระครูฯ ขึ้นเป็น พระราชวัชรสุทธิวงศ์

พระบรมราชโองการโปรดฯตั้งสมณศักดิ์ "พระอาจารย์อารยวังโส" จากพระครูฯ ขึ้นเป็น พระราชวัชรสุทธิวงศ์

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ (อารยะ อารยวํโส) เป็น พระราชวัชรสุทธิวงศ์ ธรรมาลงกรณ์วิภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จังหวัดลำพูน มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๔ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆรักษ์ ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

ประวัติ พระอาจารย์อารยวังโส หรือ พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ (ธรรมยุติกนิกาย) และสมณศักดิ์ที่ พระธัมมปฏิปัตติวยาปฏิธารา นยกเถระแห่งสยามอุบาลีวงศ์ ศรีลังกา มีวัตรปฏิบัติในการอบรมสั่งสอนธรรมเป็นกิจสำคัญ โดยให้ธรรมะทุกเช้า ณ ลานบาตร ลานธรรม วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย และทุกสัปดาห์ที่ลานอนุสาวรีย์พระนางเจ้าจามเทวี จ.ลำพูน รวมทั้งให้ธรรมะแก่บุคลากรขององค์กรต่างๆ ในวาระของการอาราธนานิมนต์เป็นเฉพาะ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น 

พระอาจารย์อารยวังโส เป็นประธานการจัดงานมาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ครั้งแรกปีพ.ศ. ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน และฟื้นฟูพัฒนาสถานที่ภายในเวฬุวันมหาวิหาร ให้มีความสัปปายะ และยกขึ้นเป็นอุโบสถพัทธสีมา สำหรับการกระทำสังฆกรรมตามวินัยพุทธานุญาต นอกจากนี้ เป็นองค์ที่ปรึกษาขององค์กรและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น เป็นองค์อุปถัมภ์การก่อตั้ง Dhamma Vinaya Monastery of Pune (DVMP) เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติธรรม ของชาวพุทธในปูเน่ ประเทศอินเดีย เป็นต้น

วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) อ.เมือง จ.ลำพูน ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยการถวายที่ดินของคุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นที่ดินมรดกของตระกูลเจ้าผู้ครองนครลำพูน มีจำนวนเนื้อที่รวม ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา 

โดยถวายแด่คณะสงฆ์ (ธรรมยุต) จ.เชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งมีหลวงปู่จันทร์ กุสลมหาเถระ ในสมณศักดิ์พระราชาคณะ เจ้าคณะรองที่พระพุทธพจนวราภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (ธ) อดีตเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธ) และอดีตที่ปรึกษาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานคณะสงฆ์ในการรับมอบเพื่อการจัดสร้างวัดในปกครองของคณะสงฆ์ธรรมยุตบนพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งในขณะนั้น ไม่มีวัดในปกครองของคณะสงฆ์ธรรมยุตในเขตอ.เมือง จ. ลำพูน

ต่อมา คณะสงฆ์ธรรมยุต โดยหลวงปู่จันทร์ กุสลมหาเถระ ได้บัญชาให้พระอาจารย์อารยวังโส รับเป็นภาระธุระในการอำนวยการจัดสร้างวัดบนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่จะได้เป็นศูนย์การเผยแผ่การศึกษาปฏิบัติธรรม โดยบัญชาให้วัดดังกล่าวสืบสายปฏิปทาหลวงปู่มั่น ภูริทัตเถระ 

วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) อ.เมือง จ.ลำพูน ได้รับการก่อสร้างเป็นวัด และยกฐานะเป็นวัดถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีนามว่า วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ และเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สมบูรณ์ทุกประการ

บัดนี้ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ได้ดำเนินงานสืบอายุพระพุทธศาสนามาถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา ๑๗ ปี มีพระสงฆ์จำพรรษามาโดยตลอดต่อเนื่อง เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในประเทศจนถึงต่างประเทศ ดังปรากฏมีคณะศรัทธาสาธุชนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเดินทางมาศึกษาปฏิบัติธรรม และบรรพชาอุปสมบทในทุกปี โดยเฉพาะเป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำพูนให้ความศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของพระภิกษุ-สามเณรของวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) เป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ไม่ว่าศาสนบุคคล ศาสนธรรม ศาสนพิธี และศาสนวัตถุ

วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) มีวัตรปฏิบัติประจำวัน คือ การทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น และการฟังธรรม เพื่ออบรมจิตภาวนา โดยช่วงเช้า เวลา ๐๔.๐๐ - ๐๕.๓๐ น. ทำวัตรเช้า ณ อุโบสถ และเวลา ๐๖.๐๐ น. พระสงฆ์ออกบิณฑบาต คณะศรัทธาพร้อมใส่บาตรบริเวณหน้าวัด และฟังธรรม ณ ลานบาตร ลานธรรม สำหรับช่วงกลางวัน มีการปฏิบัติศาสนกิจเป็นเฉพาะตน จนถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นเวลาของการเข้าฟังธรรมอบรมจิตภาวนาพร้อมกัน ณ วิหารพัชรกิติยาภานุสรณ์ฯ และเวลา ๑๗.๐๐ น. กวาดลานวัด ส่วนช่วงเย็นนั้น เป็นการสวดมนต์ทำวัตรเย็นในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ทั้งนี้ ในรอบค่ำ หลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นเรียบร้อยแล้ว จะแยกย้ายกันปฏิบัติธรรม และพักผ่อนตามกำหนดเวลา

นับจากที่พระอาจารย์อารยวังโส ได้รับบัญชาภาระธุระในการอำนวยการจัดสร้างวัดบนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุตที่จะได้เป็นศูนย์การเผยแผ่การศึกษาปฏิบัติธรรมดังกล่าวนั้น พระอาจารย์อารยวังโส เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) องค์แรก และสืบเนื่องต่อมาถึงปัจจุบัน โดยมีคณะสงฆ์ในวัดสาขาการปกครอง จำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑. วัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม (ธ) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
๒. วัดป่าอารยวังสาราม (ธ) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
๓. วัดป่ารัตนปัญญาราม (ธ) อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
๔. สำนักสงฆ์วัดป่าเทสรังสี (ธ) อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
๕. สำนักปฏิบัติธรรมวัดป่าเขาขุนน้ำคีรีวง (ธ) อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช