โคราช ป่วยโควิดเพิ่มต่อเนื่อง รอง ผอ.รพ.มหาราช หวั่นเตียงไอซียูไม่พอ

สถานการณ์ COVID-19 จ.นครราชสีมา ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เตียงผู้ป่วยหนักโควิดที่สงวนอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเตียงเหล่านี้ได้กลับนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีอาการวิกฤต

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้ คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ละวันมีจำนวนผู้เดินทางมาขอรับบริการเฉลี่ย 2-300 ราย ยอดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏผลยืนยันติดเชื้อประมาณ 90 % เนื่องจากส่วนใหญ่มีอาการป่วยและตรวจ ATK ด้วยตนเอง เมื่อผลบวกก็มาตรวจซ้ำ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปใช้ลาป่วย บางรายเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องการยารักษาและกลุ่ม 608 ที่ลูกหลานนำมา โดยแพทย์ได้ประเมินอาการหากเป็นกลุ่มเสี่ยงจะให้นอนพักรักษา เพื่อสังเกตอาการ ล่าสุดมีจำนวนผู้ป่วย 80 ราย และใส่ท่อหายใจ 20 ราย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตต่อวันประมาณ 2 ราย บางวัน 4 ราย ส่งผลให้เตียงผู้ป่วยหนักโควิดที่สงวนอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากเตียงเหล่านี้ได้กลับนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มีอาการวิกฤต
 

นพ.เจษฏ์ กล่าว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเป็นเด็กมากขึ้น เฉลี่ยเข้ารับการรักษาวันละ 2 ราย จากการตรวจสอบทั้งเด็กและกลุ่ม 608 ที่ป่วยและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ไม่เคยรับการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด บางรายฉีด 2 เข็ม และมีระยะห่างกว่า 8 เดือน สิ่งที่เป็นห่วงประชาชนมีความจำเป็นต้องเพิ่มภูมิคุ้มกัน ควรมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด เพื่อป้องกันเชื้อลุกลามลงปอดและภาวะโรคอื่นแทรกซ้อน ทั้งนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่จะมีลูกหลาน ญาติพี่น้องเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน อาจนำเชื้อมาฝากอีกเหมือนช่วงเทศกาลสำคัญทุกปี
 

ด้าน นายชัยสิทธิ์ ภูผารัตน์ หัวหน้าอาสาสมัครมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมาในฐานะหัวหน้าโครงการ “บ้านหลังสุดท้าย” กู้ภัยฮุก.31 โคราช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากโควิด ก็เคลื่อนย้ายร่างจากโรงพยาบาลนำไปประกอบพิธีประชุมเพลิงที่วัดทันที หลังผ่อนคลายมาตรการปรับเป็นการเฝ้าระวังโรคประจำถิ่นและญาติได้ขออนุญาตตั้งศพประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เราต้องเตรียมความพร้อมคอยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ผู้มาร่วมพิธีอยู่ในระยะห่างรวมทั้งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฉีดพ่น เนื่องจากการปฏิบัติงาน 2 ขั้นตอน คือ วันแรกนำร่างมาตั้งบำเพ็ญกุศลและวัดไม่มีบุคลากรดำเนินการ วันต่อมาก็ต้องกลับมาเคลื่อนย้ายร่างนำขึ้นไปประชุมเพลิง ทำให้สิ้นเปลืองวัสดุ อุปกรณ์เพิ่มขึ้น โดยมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา ได้ดูแลภาพรวมทั้ง 32 อำเภอ ทีมงานต้องขอสนับสนุนจากภาคประชาชนเพิ่มเติม หากร้องขอทางญาติก็ไม่เหมาะสม จึงเป็นปัญหาอุปสรรคของทีมงาน “บ้านหลังสุดท้าย” ที่ทำงานเสมือนการปิดทองหลังพระ