ถก 5 จังหวัดเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำฝน ต่อยอด “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล”

ถก 5 จังหวัดเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำฝน ต่อยอด “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล”

กอนช. หารือ 5 จังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียน “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล” เร่งจัดหาพื้นที่รับน้ำหลากเพื่อหน่วงน้ำเหนือ เตรียมชง กนช.เห็นชอบพิจารณาพื้นที่-งบประมาณเร่งขับเคลื่อนก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปี 66

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยการถอดบทเรียนจาก “บางระกำโมเดล สู่ สี่แควโมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพิจารณาพื้นที่เป้าหมายรองรับน้ำหลากในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมประมง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทยานฯ และ กอ.รมน. ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก
 

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้นซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการตัดยอดน้ำได้อย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม.ภายในปี 2566 ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ที่จะเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและสภาพอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น

ถก 5 จังหวัดเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำฝน ต่อยอด “บางระกำโมเดล” สู่ “สี่แควโมเดล”
 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี โดยแยกตามประเภทพื้นที่รับน้ำและการเก็บกัก ได้แก่ 1.พื้นที่สาธารณะ บึงธรรมชาติ เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ โดยดำเนินการขุดลอก ยกระดับสันเขื่อนดินเพื่อเก็บกักน้ำได้มากขึ้น  2 พื้นที่รับน้ำจากเทือกเขา เพื่อชะลอและเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำเกษตร และ 3 พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรการที่จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ  เพื่อเร่งดำเนินการหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วที่สุดก่อนถึงฤดูฝนปี 66 อย่างน้อย 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง สทนช.จะสรุปพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 5 จังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณปลายเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป