คิกออฟ 2 ทุ่ม! กทม.ใช้มาตรการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา

คิกออฟ 2 ทุ่ม! กทม.ใช้มาตรการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา

กทม.เปิดสถานที่สาธารณะ 33 แห่ง เตรียมพร้อมมาตรการหลังงานลอยกระทง เริ่มเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ทุ่มเป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมมาตรการด้านต่างๆ สำหรับเทศกาลลอยกระทง ประจำปีพุทธศักราช 2565 นี้ เพื่อให้การจัดงานทุกพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย ซึ่งประชาชนสามารถไปลอยกระทง ณ สวนสาธารณะที่กรุงเทพมหานครเปิดให้ลอยกระทง ระหว่างเวลา 05.00 - 24.00 น.  33 แห่ง ประกอบด้วย เขตปทุมวัน สวนลุมพินี เขตจตุจักร สวนจตุจักร สวนวชิรเบญจทัศ เขตลาดกระบัง สวนพระนคร สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เขตพระนคร สวนสราญรมย์สวนรมนีนาถ สวนสันติชัยปราการ เขตทุ่งครุ สวนธนบุรีรมย์ เขตบึงกุ่ม สวนเสรีไทย สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตหนองจอก สวนหนองจอก สวนราษฎร์ภิรมย์ เขตคลองเตย สวนเบญจสิริ สวนเบญจกิติ เขตมีนบุรี สวนบึงกระเทียมสวนพระยาภิรมย์ เขตคลองสามวา สวนวารีภิรมย์ สวนสิริภิรมย์ เขตบางคอแหลม สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เขตราชเทวี สวนสันติภาพ เขตบางเขน สวนกีฬารามอินทรา เขตดอนเมือง สวนรมณีย์ทุ่งสีกันเขตประเวศ สวน 50 พรรษา มหาจักรีสิรินธร สวนวนธรรม เขตทวีวัฒนา สวนทวีวนารมย์ เขตบางพลัด สวนหลวงพระราม 8 เขตลาดพร้าว สวนสาธารณะบึงน้ำลาดพร้าว 71 เขตบางกอกน้อย สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเขตสาทร สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา(สาทร) เขตบางแค สวนบางแคภิรมย์ เขตบางขุนเทียน สวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์

ในส่วนของการเตรียมการจัดเก็บกระทงภายหลังเสร็จสิ้นงาน นั้น หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะแบ่งพื้นที่ดําเนินการ ออกเป็น 3 ส่วน โดยสำนักสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร  ส่วนสํานักการระบายน้ำ รับผิดชอบจัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ  และสํานักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะและพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต

ในการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สํานักสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จํานวน 189 คน เรือเก็บขยะจํานวน 30 ลํา ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลํา  เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จํานวน 2 ลํา จอดที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร  เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จํานวน 2 ลํา  เรือตรวจการณ์ จํานวน 2 ลํา  รถตรวจการณ์ จํานวน 5 คัน  รถบรรทุกเทท้าย จํานวน 9 คัน ใช้ในการลําเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย  ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 จากนั้นจะลำเลียงกระทงที่จัดเก็บได้ ขึ้นรถ 2 จุด คือบริเวณปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมขนย้ายไปกําจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย ทั้ง 3 แห่งของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช หนองแขมและสายไหม เพื่อกําจัดต่อไป สําหรับกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติจะมีการคัดแยกเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ซึ่งเป็นการนํากระทงกลับมาใช้ประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนํากระทงไปฝังกลบ

นอกจากนี้สํานักงานสวนสาธารณะ สํานักงานเขต และสํานักการระบายน้ำ จะรวบรวมผลการจัดเก็บกระทง ส่งให้สํานักสิ่งแวดล้อม ก่อนเวลา 05.00 น. ของวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 พร้อมตรวจสอบข้อมูลก่อนรายงานผลการจัดเก็บกระทงให้เสร็จภายในเวลา 07.00 น. ของวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 และจะรายงานผลผ่านเว็บไซต์www.bangkok.go.th และสื่อออนไลน์ของกรุงเทพมหานครด้วย

สำหรับสถิติการจัดเก็บกระทงในปี 2564 ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงได้ จํานวน 403,235 ใบ จากสถิติการจัดเก็บกระทง เมื่อเทียบกับปี 2563 ปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จํานวน 492,537 ใบ และแนวโน้มปริมาณกระทงที่ทําจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 96.40 เป็น 96.46 ในขณะที่การใช้กระทงโฟมมีปริมาณลดลงจากร้อยละ3.60 เป็น 3.54 เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทําจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กระทงที่ทําจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสําปะหลัง ชานอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย และได้ขอความร่วมมือเขตแจ้งสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองในพื้นที่ที่มีการลอยกระทงงดใช้กระทงโฟม

โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครพบปัญหาในการดําเนินการจัดเก็บกระทงได้แก่ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในแม่น้ำเจ้าพระยา ทําให้การจัดเก็บกระทงเป็นไปได้ยาก  ปัญหาปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทําให้ยากต่อการจัดเก็บกระทง และการพบตะปู เข็มหมุด ปนมากับกระทง ทําให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงและทําให้เครื่องจักรเสียหาย 

“ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่ถือเป็นที่นิยมสําหรับชาวไทย เป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นการสืบสานประเพณีไทยอย่างหนึ่ง ประชาชนได้มีโอกาสสนุกสนานร่วมกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งเป็นคืนวันพระจันทร์เต็มดวง พร้อมทั้งถือโอกาสระลึกถึงคุณพระแม่คงคา เมื่อเรามีโอกาสสืบสานประเพณีไทยที่ดี จึงควรตระหนักถึงคุณค่าของสายน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบนิเวศที่มีความสําคัญต่อการยังชีพของเรา นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นความสําคัญ และมีความตระหนักใส่ใจรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทราบ ซึ่งวิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง ให้ประชาชนลอยกระทงร่วมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว/1 คู่รัก/1 กลุ่ม/1 สํานักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทําจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ จึงขอเชิญชวนให้ใช้กระทงธรรมชาติ ลดการใช้กระทงโฟม โดยหันมาใช้กระทงที่ทําจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงที่ทําจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสําปะหลังชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง เนื่องจากกระทงดังกล่าวจะไม่ทําลายสภาพแวดล้อม หากเก็บกระทงไม่หมดก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากกระทงโฟมที่ต้องกําจัดโดยการนําไปฝังกลบและ ใช้เวลานานในการย่อยสลาย” นายเอกวรัญญู กล่าว