กรมส่งเสริมการเกษตร จ่อเยียวยาพื้นที่น้ำท่วมศรีสะเกษ-อุบลฯ ทันทีหลังน้ำลด

กรมส่งเสริมการเกษตร จ่อเยียวยาพื้นที่น้ำท่วมศรีสะเกษ-อุบลฯ ทันทีหลังน้ำลด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรจัดชุดสำรวจพื้นที่เกษตรศรีสะเกษ-อุบลฯ ที่เสียหายจากอุทกภัย เตรียมเยียวยาทันทีหลังน้ำลด

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นำทีมเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี โดยอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อความรวดเร็วในการเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำลด จึงมอบหมายให้หน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกแห่งเตรียมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ประสบภัย ทั้งการเข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังน้ำลด, การจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มาจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการอารักขาพืช (ศทอ.), การจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืช ภายใต้โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสำรองใช้ในกรณีช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยและใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืชผัก ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น จากศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.)

ทั้งนี้ จากการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่เกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2565) จังหวัดศรีสะเกษคาดว่าจะมีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 323,416 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 297,608 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 24,795 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,013 ไร่และเกษตรกรได้รับผลกระทบ 51,612 ราย

ส่วนภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ 58 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีความเสียหาย 5,190,233.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,465,053.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,645,440.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 79,740.00 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 621,265 ราย และมีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว 52 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น.)
 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการช่วยเหลือดังนี้

ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ