เปิดข้อมูลสถิติลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2554 กับ ปี 2565

เปิดข้อมูลสถิติลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2554 กับ ปี 2565

สถานการณ์น้ำท่วม 2565 จะวิกฤติเท่า ปี 2554 หรือไม่? เปรียบเทียบข้อมูลสถิติลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เห็นชัดๆ ยังบริหารจัดการน้ำอยู่หรือไม่

สถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทยยังคงน่าเป็นห่วง แม้หลายพื้นที่น้ำลดระดับลงบ้างแล้ว ซึ่งหลายคนยังคงเป็นห่วงว่าอุทกภัยปีนี้ยังหนักเท่าปี 54 หรือไม่ ซึ่งทีมข่าวกรุงเทพธุนกิจออนไลน์ ได้นำข้อมูลสถิติลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2554 และ ปี 2565 มาเปรียบเทียบกันให้เห็นเลยว่าใกล้จุดวิกฤตหรือไม่?

โดยข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ตามรายงาน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2554 พบว่า น้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำเต็มความจุ และเกินปริมาณกักเก็บทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถเก็บกักหรือชะลอน้ำไว้ได้อีกหากฝนตกลงมา

  • เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำกักเก็บ 99% (13,390 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ น้ำกักเก็บเต็มความจุ 100% (9,495 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก น้ำกักเก็บเต็มความจุ 100% (942 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ปริมาณน้ำเกินความจุไปอยู่ที่ 130% (1,021 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บปกติที่ควรอยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร)

นอกจาก 4 เขื่อนนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำกักเก็บทะลุ 100% อีกหลายแห่งในช่วงนั้น ประกอบด้วย เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง, เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา, เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง
 

ปี 2565 ปริมาณน้ำกักเก็บใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 11 ต.ค. 2565 

  • เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำกักเก็บ 83% (11,218 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำกักเก็บ 70% (6,628 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีน้ำกักเก็บ 101% (949 ล้านลูกบาศก์เมตร)
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำกักเก็บ 113% (1,085 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ขณะนี้มีเขื่อน 4 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกิน 100% แล้ว ได้แก่ เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง

เปิดข้อมูลสถิติลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2554 กับ ปี 2565

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงการจัดการน้ำในท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในระดับทรงตัว คือสูงสุดของการระบายน้ำลงมา 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที

ส่วนน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาปี 2554 มากกว่าปีปัจจุบัน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนปริมาณฝนตกสะสมปี 2565 น้อยกว่าปี2554 ประมาณ 10 มิลลิเมตร และมากกว่า 2564 ถึง 300 มิลลิเมตร

เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงเวลาเดียวกันยังห่างกัน ขณะนี้มีการการระบายน้ำออกฝั่งซ้ายขวาของลุ่มเจ้าพระยา แต่ต้องดูผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำด้วย เพราะบางจังหวัดมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
 

ปริมาณน้ำที่ระบายลงมา 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาทีจะเป็นแบบนี้สักระยะ และถ้าน้ำเหนือเขื่อน จึงจะลดปริมาณการระบายน้ำลง เหตุที่ต้องระบายแบบนี้ เพราะระดับระดบน้ำเหรือเขื่อนที่กำหนดไว้ว่าระดับต้องไม่เกิน 78 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้าเกินกว่าจะกระทบกับความมั่นคงของเขื่อน หากพังขึ้นมาจะควบคุมน้ำไม่ได้เลย และน้ำจะไหลลงมาในพื้นที่ด้านล่างถึงปทุมธานี กทม.

ส่วนการผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำเจ้าพระยาตอนนี้ รองรับได้ 300 ล้านลบ.ม. ระบายลงได้ 80% ส่วนจ.สิงห์บุรี น้ำท่วมขังส่วนหนึ่งมาจากมีฝนตกในในพื้นที่และน้ำที่ไหลจากคันกั้นน้ำไปสมทบกัน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น  

ขณะที่กรมชลประทาน กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งได้จัดชุดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานต่าง ๆ