กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำ รับมือพายุโซนร้อน "โนรู"

กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำ รับมือพายุโซนร้อน "โนรู"

กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ ลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง รับมือพายุโซนร้อน "โนรู"

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 65 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (25กันยายน 2565) เมื่อเวลา 06.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,968 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง สมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง ผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 130 ลบ.ม./วินาที นั้น

กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำ รับมือพายุโซนร้อน \"โนรู\"

กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น "โนรู (NORU)" ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย. 65  ซึ่งอาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.65 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา 
 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์  ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุรับมือน้ำหลาก จัดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานของราชการ หรือที่ (คลิก),(คลิก) , facebook  โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460