ปภ.รายงานยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 11 จังหวัด และกทม.

ปภ.รายงานยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 11 จังหวัด และกทม.

ปภ.รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 34 จังหวัด รวม 93 อำเภอ 205 ตำบล 786 หมู่บ้าน และ กทม. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.65 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 4 - 18 ก.ย. 65 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 34 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ปทุมธานี นนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และตรัง รวม 93 อำเภอ 205 ตำบล 786 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,764 ครัวเรือน และกรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย (อุดรธานี) ไม่มีผู้เสียชีวิต

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 16 อำเภอ 44 ตำบล 274 หมู่บ้าน และกรุงเทพมหานคร รวม 12 เขต 17 แขวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,545 ครัวเรือน ดังนี้

- เชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลสันทราย ตำบลแม่ยาว ตำบลห้วยชมภู และตำบลป่าแอดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย รวม 8 หมู่บ้าน

- เชียงใหม่ เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อน และตำบลเวียง อำเภอฝาง รวม 4 หมู่บ้าน

- ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอสามเงา รวม 3 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 758 ครัวเรือน

- ปทุมธานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง รวม 3 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,165 ครัวเรือน

- สมุทรปราการ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง และอำเภอบางพลี รวม17 ตำบล 192 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 50,572 ครัวเรือน

- ระยอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแกลง อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านฉาง อำเภอบ้านค่าย อำเภอนิคมพัฒนา และอำเภอเขาชะเมา รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,123 ครัวเรือน

- จันทบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอท่าใหม่ รวม 6 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 94 ครัวเรือน

- กรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 12 เขต ได้แก่ เขตบางแค เขตตลิ่งชัน เขตสวนหลวง เขตบางนา เขตพระโขนง เขตสะพานสูง เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตประเวศ เขตดอนเมือง และเขตบางเขน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำ รวม 17 แขวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,545 ครัวเรือน

ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง

ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 18 ก.ย. 65 ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 13 อำเภอ 114 ตำบล 615 หมู่บ้าน ดังนี้

- อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ รวม 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 449 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

- พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 85 ตำบล 508 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,323 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

- อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอป่าโมก รวม 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 642 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

- สิงห์บุรี น้ำท่วมในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 39 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

- ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”