ความเป็นธรรมหลังความตาย ‘มอแกลน’ บนแผ่นดินสุดท้าย​

ความเป็นธรรมหลังความตาย  ‘มอแกลน’ บนแผ่นดินสุดท้าย​

การต่อสู้ไม่สิ้นสุดของชาวเลอันดามัน ที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าผืนดินกลบหน้าที่เรียกว่า...สุสาน

...

อย่าทิ้งพื้นที่สุดท้ายของชีวิตพวกเรา  พ่อเฒ่าตุ๊สั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะถึงวันนี้...วันที่พี่น้องชาวมอแกลนทับตะวันหลายร้อยชีวิตจะมารวมตัวกันเพื่อฝังร่างผู้เฒ่า ณ สุสานปากวีป จังหวัดพังงา หรือ ‘เปลวคลองหัก’ ของชาวเลชายฝั่งอันดามัน

หญิง- อรวรรณ หาญทะเล ลูกหลานชาวมอแกลนถ่ายทอดประโยคที่ได้ยินจากปากชายชรา เพียร หาญทะเล ก่อนจากไปในวัย 87 ปี ถ้อยคำจากความรู้สึกในวันที่แกป่วยหนักไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สุสานปากวีปถูกบุกรุก ทำให้คนเล่าแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว

“ตอนนั้นแกลุกไม่ไหว ได้แต่บอกว่าอย่าทิ้งพื้นที่สุดท้ายของชีวิตพวกเรา ต้องช่วยกัน แกบอกว่า ถ้าแกเดินได้จะไปพบผู้ว่าฯด้วยตัวเอง แกบอกว่าอย่าเอาเงิน อย่าเอาคำว่ามอแกลนทำอะไรไม่เป็นมาเป็นข้ออ้างไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แกบอกให้ลุกขึ้นมาปกป้องผืนดินตรงนั้น เพื่อให้ทุกคนได้มีที่ฝังให้เป็นพื้นที่สุดท้าย"

นี่ไม่ใช่ฉากชีวิตของผู้เฒ่าตุ๊ แต่เป็นชะตากรรมของพี่น้องชาวเล ทั้งมอแกลน มอแกน อุรักลาโว้ย นับหมื่นคนในหลายจังหวัดที่ถูกเบียดขับจากการพัฒนาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่อาศัย พื้นที่ทำกิน จนถึงพื้นที่สุดท้ายคือ ‘สุสาน’ ซึี่งพวกเขายืนยันว่าคงถอยให้ไม่ได้อีกแล้ว

“ทั้งสุสานและพื้นที่พิธีกรรมเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณ และสืบทอดจารีตประเพณีของชาวเลที่มีมาดั้งเดิม แต่เมื่อมีนโยบายการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการรุกรานที่ดินสุสาน และยึดพื้นที่พิธีกรรมของชาวเลไปเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวเลบางชุมชนไม่มีพื้นที่เพื่อทำพิธีกรรม สุสานชาวเลหลายแห่ง ถูกอ้างสิทธิครอบครองโดยนายทุน/ผู้มีอิทธิพล เช่น ที่เกาะพีพีโรงแรม สร้างทับสุสานชาวเล ที่ภูเก็ต ชาวเลไม่สามารถเดินเข้าออกสุสานได้ เพราะเอกชนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินทำประตูปิดสุสาน หากมีผู้เสียชีวิตต้องขอกุญแจไปเปิดสุสานเพื่อนำศพเข้าไปฝัง ปัจจุบันมีพื้นที่สุสาน และพื้นที่พิธีกรรม กำลังถูกคุกคาม ไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง” ข้อมูลจากหนังสือ ‘วิกฤติ วิถีชาวเล’ โดยมูลนิธิชุมชนไท 

936478

 

บนถนนเลียบชายหาดขนาดกว้างพอรถยนต์วิ่งสวนกัน ด้านหนึ่งคือหาดปากวีปที่เริ่มเป็นที่รู้จักในภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงความเป็นธรรมชาติในตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ส่วนอีกด้านมองเห็นเป็นต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรก ถ้าไม่บอกก็คงไม่มีใครรู้ว่า นี่คือสุสาน หรือป่าช้าฝังศพของชาวเล

“เมื่อก่อนรกกว่านี้อีก ต้นไม้เยอะ มีเสือ มีควายป่า เพราะเดิมพื้นที่สุสานจะมีลักษณะเป็นป่า เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มีสมุนไพร มีต้นมะพร้าว ชาวบ้านก็มาเอาไปกินไปใช้ประโยชน์ได้” วิทวัส เทพสง หนุ่มมอแกลน ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน อธิบายสิ่งที่คนต่างถิ่นอาจสงสัยเมื่อมายืนอยู่บนที่ดินคล้ายรกร้าง

และเพราะอย่างนั้นการรุกล้ำพื้นที่สุสานจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและง่ายดายนับตั้งแต่ยุคของการสัมปทานเหมืองแร่ และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หลังสึนามิเปิดทางให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเติบโตแบบก้าวกระโดด

“ในช่วง 60-70 ปีหลังมีสัมปทานเข้ามาแล้วป่าชายหาดถูกเปิด พื้นที่สุสานก็เลยโล่ง ก็มีคนเข้ามาใช้พื้นที่่นับตั้งแต่นั้น ประมาณ พ.ศ.2532 มีการทำบ่อกุ้ง เริ่มมีคนครอบครองที่ดิน สุสานเราก็เหลือแค่ 8ไร่ 1 งาน ผู้นำมอแกลนก็เลยชวนผู้ใหญ่บ้านไปออก น.ส.ล.(หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แสดงสิทธิในการขอใช้ประโยชน์ร่วมกัน) ซึ่งตอนนั้นหลุมศพก็มีโดนขุดไปบ้างแล้ว”

ทว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 นอกจากบ้านเรือนส่วนหนึ่งจะถูกกลืนหายไปในทะเล พื้นที่ชายหาดที่เปิดโล่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาจับจอง ทางเดินเล็กๆ ที่เป็นเคยเป็นทางวัวทางควายก็ถูกขยายกว้างขึ้นเพื่อรองรับรถยนต์รับส่งนักท่องเที่ยว ร้านค้าชายหาดผุดขึ้นมานับสิบร้าน

“มีโรงแรมมาตั้งเมื่อปี 2552 สร้างในพื้นที่ที่เราเคยฝัง เหลือพื้นที่ไว้เว้าๆ แหว่งๆ ก็ไม่รู้เกิดขึ้นได้ยังไง เพราะ น.ส.ล.รูปเดิมเป็นสี่เหลี่ยม เราก็เลยร้องให้ตรวจสอบปี 2556 พอตรวจสอบก็ได้พื้นสี่เหลี่ยมคืนมาแต่ดันมาอยู่ข้างหน้าติดชายหาด คราวนี้ในช่วงนั้นมีคนเข้ามาทำร้านค้าเกือบ 20 ร้านบนพื้นที่ติดชายหาดเลย เราก็เริ่มไม่สบายใจ ยังดีที่ปี 2558 ก็โดนรื้อ เพราะคสช.มีคำสั่งห้ามสิ่งปลูกสร้างบริเวณชายหาด แต่ตัวถนนที่ขยายกว้างไปก็ยังอยู่และกว้างขึ้นเรื่อยๆ หลุมศพเราก็โดนทับไปบ้าง”

ความเจ็บช้ำน้ำใจสะสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อหลายเดือนก่อนความขัดแย้งนำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างชาวมอแกลน คนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ

“หมาดๆ เลยก็ประมาณสัก 5 -6 เดือนที่ผ่านมา ทางโรงแรมเขาเอาขยะไปถม ไปตัดถนนอีก ก็มีเรื่องไปประมาณสัก 3 เดือนได้ พวกผมก็เลยไปร้องเรียนที่จังหวัดให้เขารื้อออก” เตียน หาญทะเล ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ย้อนเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้น ขณะที่วิทวัสเล่าว่า วันที่ทุกฝ่ายเผชิญหน้ากัน พวกเขาโดนชี้หน้าข่มขู่ต่อหน้าตัวแทนจาก กอ.รมน.ซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยด้วย

“โดยนิสัยของมอแกลนเราหนีอยู่แล้ว แต่เราก็ไปหานักวิชาการมา แล้วก็มาทำข้อมูล พอดีเอสไอลงมาเรามีข้อมูลอยู่แล้วก็ไปคุยกับระดับนโยบาย ทำหนังสือส่งไปถึงประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล มีการประชุมกันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาแก้”

แต่จนถึงบัดนี้ปัญหาก็ดูเหมือนยังคาราคาซังและพร้อมกระทบกระทั่งกันได้ทุกเมื่อ พื้นที่สุสานปากวีป ปัจจุบันเหลือเพียง 4 ไร่เศษ กับพื้นที่ว่างเปล่าด้านหลังอีกกว่า 1 ไร่ ซึ่งชาวมอแกลนยืนยันว่าเป็นพื้นที่เดิมของสุสาน กระนั้นก็ยังคงหอมหวานสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว

“ตามกฎหมายเรื่องนี้มันต้องนำเข้าสู่กระบวนการประชามติ ซึ่งกฎหมายให้สิทธิประชาคม คือชาวบ้านในขอบเขตพื้นที่ ไม่ใช่ว่าใครใช้ก็ให้คนกลุ่มนั้น ทีนี้สุสานอยู่ในตำบลคึกคัก แต่บ้านของพวกเราส่วนใหญ่ที่ใช้สุสานอยู่ตำบลบางม่วง ท้ายเหมือง คุระบุรี ทำให้เราไม่มีสิทธิมาประชาคม ส่วนมอแกลนในตำบลคึกคักก็มีแค่ 12 ครอบครัว กับชาวบ้านทั่วไป 600 กว่าครอบครัว ซึ่งส่วนมากก็เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว พอมีประชาคมเราก็เป็นเสียงส่วนน้อย กลายเป็นว่าเขาจะประชาคมทุกอย่าง แม้กระทั่งเราจะฝังศพ เขาก็บอกว่าจะประชาคม จะเอาสาธารณสุขมาตรวจว่ามันจะมีเชื้อโรครึเปล่า อะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้ชาวเลเรารู้สึกเครียด” วิทวัส ชี้ปัญหาที่ยังไร้ทางออก

สำหรับคนมอแกลนที่ร่วมกันใช้สุสานแห่งนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่ารักษาพื้นที่สุดท้ายของชีวิต และแม้จะไม่อยากขัดแย้งกับคนพื้นถิ่นที่เคยอยู่ร่วมกันมา แต่ด้วยจารีตประเพณีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรก็คงไม่อาจถอยได้อีกแล้ว

 

936475

ในพิธีศพของพ่อเฒ่าชาวมอแกลน ลูกหลานทั้งในและต่างหมู่บ้านจะมารวมตัวกันเพื่อแสดงความอาลัย นับเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ของเชื้อสายชาวเล และสืบทอดพิธีกรรมตามความเชื่อที่ต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน

“เราได้รับคำสอนจากผู้เฒ่าว่า สุสานหรือประเพณีพิธีกรรมของมอแกลนเป็นเรื่องสำคัญ พื้นที่บ้านใครจะมาอยู่ก็ได้ แบ่งให้คนไทย คนพื้นถิ่น คนพุทธคนอิสลามได้หมด แต่ว่าที่ดินที่เป็นสุสานเราไม่สามารถแบ่งให้ใครได้ ทุกคนสามารถมาฝังรวมกันได้ แต่ไม่สามารถแบ่งให้ทำรีสอร์ท ทำอะไรก็ได้ เพราะไม่อย่างนั้นพวกเราจะไม่มีพื้นที่สุดท้าย” อรวรรณ บอก ก่อนจะเล่าถึงขั้นตอนในการนำร่างผู้ล่วงลับไปฝังว่า ‘หมอดอย’ หรือผู้ทำพิธีจะเป็นคนชี้จุดที่จะฝังซึ่งมักอยู่ใกล้กันในกลุ่มครอบครัว บริเวณด้านบนหลุมศพแต่เดิมจะไม่มีสัญลักษณ์อะไร มีเพียงเทียนและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายวางไว้

“ชาวมอแกลนเราฝัง ณ ตรงนั้น ปู่ย่าตายายตั้งแต่โบร่ำโบราณก็ฝังตรงนั้น ก็มีจิตสำนึกว่าต้องอยู่ตรงนั้น เปรียบเสมือนว่าคือป่าช้าของเราใช้ร่วมกัน แต่ถ้าให้เปลี่ยนแปลงไปที่อื่น มันเป็นไปไม่ได้ ทำใจไม่ได้” เตียน ระบายความในใจ หลังจากที่มีคนเสนอให้ย้ายสุสานไปที่อื่น

936481

 

ในความรู้สึกนึกคิดของคนมอแกลน บรรพบุรุษคือต้นรากของชีวิต คือความมั่นคงทางจิตใจ วิทวัสย้ำว่า “ถ้าสุสานถูกทำลาย เราเชื่อว่ามันจะวิบัติ”

“คือเรานับถือบรรพบุรุษ บรรพบุรุษกำหนดจิตใจเรา ทำอะไรที่ไหนก็ตามบรรพบุรุษก็จะเฝ้ามอง ถ้าไม่มีบรรพบุรุษแล้วก็จะไม่มีใครคุ้มครอง เราเชื่ออย่างนั้น บรรพบุรุษสามารถคุ้มครองและลงโทษพวกเราได้ แต่ถ้าทุกอย่างเปลี่ยนไป เราก็จะไม่มีอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจให้เป็นคนดี ให้เป็นคนรักธรรมชาติ ทุกคนก็จะตัดต้นไม้โดยไม่ต้องขออะไร ทุกคนก็จะหาปลาแบบล้างผลาญ เพราะหลักคำสอนที่สืบทอดกันมา มันสอนเราเรื่องการดูแลธรรมชาติ ทำให้เราไม่ไปสร้างอะไรที่มันทำลายธรรมชาติ”

ปัจจุบัน จังหวัดพังงามีชุมชนมอแกลน 24 ชุมชน ใน 4 อำเภอ คือ คุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และตะกั่วทุ่ง ทั้ง 24 ชุมชน มีสุสานของมอแกลน 7 แห่ง และของมอแกน 1 แห่ง จำนวนคนที่ใช้สุสานร่วมกันมากกว่า 6 พันคน เป็นการใช้ในรูปแบบของเครือญาติ อย่างสุสานปากวีปซึ่งมีอายุหลายร้อยปี คนต่างอำเภอก็สามารถมาใช้ได้เพราะส่วนใหญ่เป็นญาติกันทั้งหมด

“หลังจากที่หลายสุสานในหลายพื้นที่เกิดปัญหา เราก็ไปร่วมกับชาวเลอีก 4 จังหวัดในอันดามัน รวมแล้ว 25 สุสาน ตอนนี้มีสุสานที่ 26 ก็คือเกาะเหลา จากนั้นส่งข้อเสนอไปยังภาครัฐให้ตรวจสอบแล้วกันพื้้นที่ น.ส.ล. ที่เป็นป่าช้า เพราะเรามีบทเรียนจากทุ่งหว้าที่เป็น น.ส.ล. แล้วเขาบอกว่าเป็นพื้นที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ฉะนั้นขอทำเป็นลานจอดรถ สวนสาธารณะก็ต้องได้ แต่เรายืนยันเจตนารมณ์ว่า ถ้าเกิดออกกฎหมายมาว่าเป็นพื้นที่ป่าช้าก็ต้องใช้เพื่อเป็นป่าช้า ใครจะมาฝังมาเผาก็แล้วแต่ ทำได้เลย แต่ไม่ใช่มาเหยียบย่ำบนพื้นที่หลุมฝังศพ" วิทวัส บอก

เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เตียน หาญทะเล เสนอว่าควรมีความชัดเจนในเชิงนโยบาย กฎหมาย และกติกาในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ น.ส.ล. ที่เป็นป่าช้า ภาครัฐควรกำหนดไปเลยว่าห้ามทำกิจกรรมอย่างอื่น 

“การบังคับใช้พื้นที่อาจจะต้องฝังรั้วหรือทำป้ายขึ้นมาว่าเป็นสุสานใช้ร่วมกัน ห้ามทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ทำแล้วมาสั่งรื้อ กลายเป็นชาวบ้านต้องโต้แย้งทะเลาะกันบ่อยครั้ง มันไม่ใช่”

แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่ชาวเลหลายๆ พื้นที่ก็เริ่มหาทางออกของตนเอง เช่นที่สุสานปากวีป บริเวณหลุมฝังศพเริ่มมีการปักเสาเป็นสัญลักษณ์ ขณะที่บริเวณรอบๆ มีการคุยกันว่าอาจจะต้องทำป้ายสุสานหรือทำรั้วแสดงอาณาเขต

“เมื่อก่อนเราไม่ทำสัญลักษณ์ เพราะในหลุมศพมีทรัพย์สิน แล้วก็มีความเชื่อว่าอาจจะถูกนำไปทำคุณไสย แต่พอผ่านมาถึงยุคนี้ คิดว่าคงต้องทำ เพราะขนาดบึงน้ำก็ยังกลายเป็นโรงแรม พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยคิดครอบครองก็เลยไม่ไปเอาเอกสารสิทธิ์ ไม่มีความรู้ ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ตอนนี้คงต้องคิดแล้ว เพราะหลายพื้นที่สุสานก็หายไปแล้ว ที่เกาะพีพีก็อยู่ใต้โรงแรม เกาะพยาม เขาขุดกระดูกทิ้งแล้วตั้งรีสอร์ททับไปเลย” วิทวัส ชี้ถึงความสุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามราคาที่ดิน

ทุกวันนี้ นอกจากจะทำมาหากินได้ยากลำบากเพราะชายหาดถูกจับจองด้วยธุรกิจท่องเที่ยว ใต้ท้องทะเลก็ถูกบังคับด้วยกฎหมาย พื้นที่อาศัยหลายแห่งถูกรุกคืบในนามการพัฒนา สุดท้ายสุสานก็ยังอาจจะไม่เหลือ

“ถ้าพวกเราไม่ต่อสู้ เราก็อาจจะเจออย่างที่หลายชุมชนเจอ เขาเคยคุยกับพวกเราว่าจะล้างป่าช้า เราบอกว่าคุณจะไปล้างที่ไหนก็ไป แต่อย่ามาล้างป่าช้าพวกเรา เพราะเราเชื่อว่า กระดูกนี่คือบรรพบุรุษ ลูกหลานในตระกูลตายไปก็จะอยู่ตรงนั้น เท่ากับเขาได้พบเจอกับบรรพบุรุษเขาแล้ว ถ้าล้างป่าช้า พวกเราก็จะไม่ได้เจอกับบรรพบุรุษ” อรวรรณ พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

“เราเจ็บช้ำน้ำใจกับเรื่องนี้เยอะมาก สิบกว่าปีแล้วตั้งแต่หลังสึนามิ พวกเราต่อสู้เรื่องสุสานมา มันไม่เคยขยับไปไหนเลย เราไม่แพ้ แต่เราก็ไม่ชนะ ถ้าลูกหลานไม่มีจิตใจลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่รู้ประวัติของตัวเอง ถ้าผู้เฒ่าไม่ได้สั่งสอน ไม่ได้บอกเล่า สักวันก็จะกลายเป็นว่าคนมอแกลนไม่มีในประเทศไทย”

936476

สุดท้ายก่อนที่เรื่องนี้จะจางหายไปอีกครั้ง วิทวัสเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับในสิทธิพื้นฐานของชนเผ่าพื้นเมือง “ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ศาสนาใด ต่างก็มีที่สุดท้ายของตัวเอง มอแกลนก็ขอที่สุดท้ายของตัวเอง กันมาเป็นพื้นที่สุสานของชาวเลได้มั้ย” เขาฝากคำถามไปถึงรัฐบาลใหม่ในอนาคตอันไม่ไกล

“ผมอยากจะเห็นรัฐบาลสักรัฐบาลที่ลุกขึ้นมาจัดการกับเรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องสามัญของชาวบ้าน จัดการให้คนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่อีกคนอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว อีกคนอยู่ภายใต้ความระแวง"

ทุกชาติพันธุ์ ทุกวัฒนธรรมควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม อยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ...อย่าคุกคามจนไม่เหลือแม้ผืนดินสุดท้าย