“ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา...” เพลงชีวิตของ “พรพิรุณ" ศิลปินแห่งชาติผู้ได้นามจากสนามม้านางเลิ้ง

“ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา...” เพลงชีวิตของ “พรพิรุณ" ศิลปินแห่งชาติผู้ได้นามจากสนามม้านางเลิ้ง

เรื่องราวชีวิตของ “พรพิรุณ" หรือ สุคนธ์ พรพิรุณ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561 สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงสากล) ผู้เปี่ยมพรสวรรค์ มีบทแพลงที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักมากมาย แต่มีชีวิตที่ยากลำบากไม่ต่างจาก "เพลงชีวิต"

ถ้าพูดถึงเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” คนรุ่นกึ่งศตวรรษจะฮัมออกมาได้ทันทีว่า “ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา.....” โดยร้องเสียงยืดคำแบบครูเอื้อ สุนทรสนาน ถือเป็นเพลงเด่นของครูเอื้อเลยทีเดียว

เพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ประพันธ์โดย พรพิรุณ เธอแต่งเพลงนี้ตั้งแต่ปี 2508 ครูเอื้อเป็นผู้ตั้งชื่อเพลงขณะขับรถไปส่งครูพรพิรุณที่บ้าน ครูพรพิรุณแต่งเพลงนี้ทั้งคำร้องและทำนอง เมื่อนำมาให้ครูเอื้อพิจารณา ครูเอื้อได้แก้ไขโน้ตบางตัว ครูพรพิรุณจึงมอบทำนองเพลงนี้แก่ครูเอื้อเพื่อเป็นการบูชาครู

น้อยคนนักจะรู้จักตัวตนและผลงานของครูพรพิรุณ แต่น่ายินดีที่ปีนี้ ครูได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ 2561 ในสาขาเดียวกันกับ จิก ประภาส ชลศรานนท์ (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล)

ย้อนหลังไปกว่าสิบปี ผมได้รับทราบข่าวจากเพื่อนนักจัดรายการวิทยุว่า มีนักแต่งเพลงคนหนึ่งเทียวนั่งรถไฟไปกลับจากกรุงเทพฯ ไปร้องเพลงร้านอาหารในโรงแรมลพบุรีอินน์กับวงดนตรีวงใหญ่  ผมไม่รอช้าที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์ครูด้วยชื่นชมผลงานเพลงมานานและไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน

ประโยคแรกที่บอกกับครูว่า หลายคนรวมทั้งผมมักคิดว่าชื่อ ‘พรพิรุณ’ เป็นผู้ชาย เธอตอบมาว่า “ทำไม คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า ผู้หญิงที่แต่งเพลงเก่งๆ ก็มีเหมือนกันนะ” หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสนัดพบกันบ่อยๆ ที่ห้องสอนร้องเพลงของครูบ้าง ในร้านอาหารบ้าง และคอนเสิร์ตการกุศลต่างๆ ผมกับเพื่อนๆ เรียกชื่อกันติดปากว่า “ครูพร”

นักเรียนพยาบาลกับ “ฝนหยาดสุดท้าย”

พรพิรุณ หรือ สุคนธ์ กุสุมภ์ การศึกษาไม่ธรรมดา ครูพรจบประถมศึกษาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาเป็นนายทหารจึงโยกย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ จบ ป. 4 ที่โรงเรียนอาจศึกษา พระนครศรีอยุธยา ช่วงสงครามกำลังจะเลิกพอดี ครอบครัวได้เข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่ โรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัยจนจบมัธยมที่ 1 และ ร.ร.เซ็นต์ฟรังค์ซิสซาเวียร์คอนเวนต์ ชั้นมัธยม 2 - 6 และไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยพยาบาลราชวิถี (ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “ครูเพลง” ฉบับพิเศษ ของ ถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์)

IMG_3803 (1)

ผมโชคดีค้นเจอหนังสือ ”เพลงรักจากพรพิรุณ” ที่ครูพรมอบให้ผมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 โดยเป็นหนังสือสูจิบัตรที่ทำขึ้นในคอนเสิร์ตชื่อเดียวกันในปีนั้น ทำให้ทราบข้อมูลชีวิตครูในแง่มุมต่างๆ เพิ่มขึ้น

ครูพรให้สัมภาษณ์ว่า ละครวิทยุกรมโฆษณาการ ออกอากาศเฉพาะวันพฤหัสบดีช่วงบ่าย ซึ่งทุกวันพฤหัสบดีเป็นวันหยุดโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ตอนนั้นครูกำลังเรียนมัธยมปีที่ 3 อายุ 13 ปีจึงชวนเพื่อนจะไปดูเขาเล่นละครเพลงออกอากาศกันแบบสดๆ จนเมื่อสนิทสนมคุ้นเคยกับคณะ ก็ได้ร่วมแสดงด้วยแต่เป็นแค่เสียงประกอบเล็กๆ น้อยๆ

ครูนึกสนุกอยากจะเขียนเพลงให้คณะละครบ้าง จำได้ว่าเขียนเพลงในโรงเรียนและเอามาให้ทีมงานที่ออกอากาศนั่นเอง บ่ายวันนั้นตื่นเต้นบรรยายไม่ถูกเมื่อได้ยินและจำได้ว่าเป็นเพลงที่ตัวเองเขียน ก็ได้แต่วิ่งเต้นไปรอบบ้านเหมือนคนบ้า เพื่อหาใครสักคนมาร่วมฟังร่วมรับรู้ แทนที่จะได้รับคำชมจากยายที่บ้าน กลับได้รับคำที่เหมือนคำสาปเอาไว้จนถึงทุกวันนี้ คือ

“...พุทโธ่เอ๋ย ยายอี๊ด ริจะเป็นนักประพันธ์ใส่แห้ง คงได้อดตายจนได้สักวันหรอก...”

การได้เรียนโรงเรียนฝรั่ง ทำให้ครูพรมีความสามารถเรื่องเพลงต่างประเทศไม่น้อย ครูแกะเนื้อเพลงและนำทำนองเพลง “Summer Kisses, Winter Tears” ที่ขับร้องโดย  Elvis Presley มาเป็นเพลง” คิมหันต์พิศวาส” ให้ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง โดยใช้คำสวยงามที่มีความหมายไม่เปลี่ยนจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเลย

ครูพรเล่นดนตรีได้หลายชนิด และเคยไปแข่งชนะในรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนพยาบาล และได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีโรงพยาบาลหญิง จนจบวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ชั้น 1 ปี 2498 (สมัยนั้นยังไม่มีพยาบาลปริญญา) โดยระหว่างทำงานอยู่เทศบาลกรุงเทพ แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก ครูพรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวงสุนทราภรณ์ ทำหน้าที่ขับร้อง และเริ่มประพันธ์เพลง ซึ่งเพลงแรก “มนต์จันทร์” ใน ปี 2492 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก

พรพิรุณ

ครูพรลาออกจากเทศบาลกรุงเทพ เมื่อปี 2505 และเข้ารับราชการทหารในกองดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 1 จนปี พ.ศ. 2506 ได้แต่งเพลง “ฝนหยาดสุดท้าย” ทำให้ชื่อ อี๊ด (ชื่อเล่นของครู) เป็นที่กล่าวขานในวงการนักแต่งเพลง และมีข้อมูลเล่าว่า เพลงนี้ครูพรแต่งขึ้นมาจากเรื่องจริงที่ต้องผิดหวังจากข้าราชการแพทย์หนุ่มคนหนึ่งจากทางภาคเหนือ ที่พบกันระหว่างเขาเข้ามาอบรมที่กรุงเทพฯ จนเมื่อถึงวันที่หมอหนุ่มจะต้องกลับบ้านเกิด ก็ได้ให้คำสัญญาว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ไม่เกินหน้าฝน แต่ภายหลังครูมารู้ข่าวอีกทีว่าเขาได้แต่งงานไปแล้วกับสาวคนอื่น

ครูพรจึงได้นำเนื้อร้องเพลงและไกด์โน้ตดนตรี “ฝนหยาดสุดท้าย” ไปมอบให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แล้วตนเองก็ลาออกจากราชการไปทำงานคลินิกของเพื่อนที่ลาวอยู่ราว 1 ปี  เมื่อกลับมาเมืองไทย ปรากฏว่าเพลง “ฝนหยาดสุดท้าย” โดยการขับร้องของ บุษยา รังสี โด่งดังทั่วประเทศ

จินตนาการถึง “ถิ่นสวรรค์”

บทเพลงเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆในประเทศไทย  ครูพรแต่งไว้มากมาย อาทิ “หาดผาแดง” ที่ครูไปเล่นดนตรีที่ร้านแถวนั้น เลิกงานมานั่งแต่งครูได้เล่าให้ฟังว่า หาดไม่ได้สวยงามมากมายเลย (ในขณะนั้น)  แต่ครูได้ใช้ภาษาจินตนาการสวยงาม  จนใครที่ได้ฟังแล้วอยากไปเยือนสักครั้ง

 “...หาดผาแดงนี่คือสถานพักใจ งามวิไลเหมือนดังถิ่นแดนสวรรค์

เพียงครั้งแรกที่ฉันมายังฝันหาทุกคืนวัน  เพราะว่าที่นั่นเหมือนวิมาน”

และยังมีเพลงประจำสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ครูแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่น้อยคนจะทราบว่า ครูพรไม่เคยไปที่นั่นเลย แต่เขียนจากจิตนาการกับข้อมูลที่ได้มา ได้แก่เพลง “มาร์ช มช.”  “มช.เกรียงไกร” “รำวง มช.รักเรียน” ซึ่งมีเนื้อหาเข้มข้นตามชื่อเพลง 

แต่ส่วนหนึ่งที่มีคนกล่าวว่าเพลงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่างจากที่อื่นๆ คือ มีเพลงที่ออกแนวสวยงามโรแมนติกมากมาย ซึ่งก็มาจากปลายปากกาและจินตนาการของครูพรนี่เอง อาทิ เพลง “มช. ถิ่นสวรรค์” (ขึ้นต้นว่า “ณ พื้นดินถิ่นสวรรค์ ดินแดนแห่งฝันขวัญบุรีศรีไทย....”

และท่อนแยกว่า “...สวยอ่างแก้วเพริศแพร้วเด่นพราว  ดูดอกทองกวาวใบสักร่วงกราวสู่พสุธา งามยิ่งมหาวิทยาลัยลานนา อิงแอบซบแนบภูผาเหมือนชีวาเราซบร่วมกัน...” 

เพลง “สวรรค์ มช.”  เนื้อเพลงขึ้นต้นว่า

“เขตฟ้ายามราตรี มีแสงดาราเรืองไร  เพลงฝันบรรเลงไประเริงเร้าในอุรา
เขตรั้วเรา ม.ช.คลอเคล้าดนตรีลีลา เสกสรรบรรเลงพาสำรวลระเริงรื่นใจ”

เพลง “ราตรีอ่างแก้ว” ที่ฟังแล้วชวนเคลิบเคลิ้มว่า “ท้องฟ้าราตรีงามนี้ผ่านเพ็ญเด่นพราย ระยิบเรียงรายรอบไปด้วยหมู่ดารา สวยงามแห่งนี้ราตรีอ่างแก้วโสภา งามพิไลดั่งมีมนตราสวยกว่าเมืองแมน...”

“พรพิรุณ” นามที่ได้จากสนามม้านางเลิ้ง

ครูพร เจ้าของรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง “ขอปันรัก” (ขับร้องโดย เสกสรรค์ กุสุมภ์ ผู้เป็นน้องชาย ในปี พ.ศ. 2508 ลงทุนทำแผ่นเอง) เล่าถึงที่มาของนามปากกา จนกลายมาเป็นสนามสกุลว่ามาจากชื่อม้าในสนามม้านางเลิ้ง

สมัยก่อน นักเรียบเรียงเสียงประสานโดยเฉพาะครูสมาน  กาญจนผลิน และนักดนตรีท่านอื่น ในวันหยุดจะไปเล่นกีฬาพระราชากันอยู่ในสนามม้า  วันหนึ่งเป็นวันแข่งม้านัดสำคัญ ครูนำเพลงไปส่งให้ครูสมานที่บ้านข้างวัดเทพธิดาราม และถามครูสมานว่า วันนี้ไม่ไปสนามหรือก็ได้คำตอบว่าไม่ไป ก็มีงานเตรียมอัดเสียง ครูสมานบอกว่า วันนี้ม้าจากคอกเคเอส ชื่อ “พรพิรุณ” ลงแข่งด้วย ถ้าฝนตกช่วยแทงเผื่อด้วยเพราะม้าตัวนี้มันชอบฝน

พรพิรุณ (2)

เมื่อถึงสนามม้า ครูซื้อโปรแกรมมาอ่านดูมีชื่อม้าตัวนี้จริง จึงลงไปซื้อใบแทงม้าและซื้อเผื่อครูสมานครึ่งหนึ่ง ปรากฏว่าฝนเริ่มปรอยลงมาพอดี เจ้าพรพิรุณผู้น่ารักก็วิ่งจ้ำอ้าวจนถึงเส้นชัย  ครูกระโดดตัวลอยจนเลิกแข่ง รีบกำเงินที่ได้ไปให้ครูสมาน ครูสมานบอกว่าพูดไปเล่นเล่นอย่างนั้นแหละ ไม่นึกว่าจะซื้อให้จริงๆ แล้วก็นึกอยู่ตั้งนานว่าจะตั้งนามปากาอะไรให้อี๊ดดี เอาอย่างนี้ชื่อ “พรพิรุณ” นี่แหละดี

ต่อมาภายหลังครูจึงใช้ “พรพิรุณ” เป็นนามสกุลเพราะคำพูดสบประมาทที่ว่า “สกุลฉันไม่มีใครเต้นกินรำกิน”  ครูนำไปขอจดเป็นนามสกุลใช้แยกออกมาจากคนอื่นตั้งตัวเป็นต้นสกุลซะเองจะได้ไม่ไปเสียเกียรติใคร

“เพลงชีวิต” ที่ยากลำบาก

ชีวิตของครูพรพิรุณลำบากมาก ไม่น่าเชื่อว่าบางช่วงชีวิตไม่มีเงินติดบ้านก็เคยมี และเจอเรื่องผิดหวังหลายครั้ง ครูพรเป็นเพื่อนกับ ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ นักเขียนชั้นแนวหน้าที่มีชื่อเล่นว่า “อี๊ด” เหมือนกัน  ทมยันตีได้นำเรื่องราวในชีวิตพรพิรุณ ไปแต่งนิยายเรื่อง “เพลงชีวิต” ซึ่งในนิยายเป็นเรื่องราวของ "เอียด" ผู้หญิงที่สู้ชีวิตมาด้วยความอดทน อดกลั้น สร้างชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรง ดำรงชีวิตด้วยน้ำใจอันงดงาม แต่เพลงชีวิตของเธอดุจโดดแต่งแต้มด้วยโชคชะตาที่อาภัพ

ครุพร

ชีวิตครูเจอแต่เรื่องผิดหวังในความรัก เรื่องรุนแรงในครอบครัวระหว่างครูกับพ่อของลูกชายทำมาเกิดเพลงชื่อ “คนใจมาร” ครูแต่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2509 ขึ้นต้นเพลงว่า “ต่อให้เธอมาคุกเขาเฝ้าง้อวิงวอน ฉันไม่ใจอ่อนอภัย....”  ร้องต้นแบบแรก โดยวิภาจรีย์ ศรีสวัสดิ์ ต่อมาก็ได้ดาวใจ ไพจิตร ร้องบันทึกเสียงครั้งที่สอง

อีกเพลงเด่น คือ “รางวัลชีวิต” ที่เขียนเพื่อใช้ในละครเรื่อง “รางวัลชีวิต”ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5  ขับร้องโดย  ชัชฎาภรณ์ รักษณาเวศ

“พระพุทธองค์ท่านทรงสอนเรื่องเวรกรรม

คนไหนใครทำกรรมเคยก่อเอาไว้อย่างไร

ก่อนนั้นเคยทำกรรมไว้ชาติใด

ชาตินี้ต้องได้รับกรรมที่ทำก่อนนั้น...

ช่วงที่เพลง “หาดผาแดง” ประสบความสำเร็จสูงแผ่นลองเพลย์ขายได้ถึง 6,000 - 7,000 แผ่น ซึ่งนับว่ามากทีเดียวสำหรับช่วงเวลานั้น ทำให้ครูมีเงินสะพัด เที่ยวใช้จ่ายเลี้ยงลูกวง มีคนถามครูว่า ตอนนั้นไม่ได้เก็บเงินไว้ใช้สอยในยามลำบากบ้างเลยหรือ ครูตอบว่า คิดบ้างเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เป็นคนรักเพื่อนห่วงเพื่อนมากกว่าตนเอง ยามจนก็จนด้วยกัน  เวลายามที่มีก็น่าจะมีส่วนมีความสุขด้วยกัน ถ้าคิดจะเก็บเงินจริงๆ คงปลูกบ้านหลังงามงามได้ 2 – 3 หลังกระมัง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ครูคงไม่มีเพื่อนมากมายและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

พรพิรุณ 2

ครูพรในวันนี้ หมดคราบของผู้หญิงเก่ง แลดูห้าว พูดจาโผงผาง  ทำงานแบบคนใจใหญ่ ใจนักเลง และเลี้ยงคนไม่อั้น ลิขสิทธิ์เพลงที่แต่งไว้แทบจะไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เลย

ครูพรกลายเป็นหญิงชราป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ มีลูกชายดูแลตามลำพัง หลงๆ ลืมๆ หูไม่ค่อยได้ยิน

ได้รับทราบข่าวจากลูกชายครูเร็วๆ นี้ว่า ครูพรพิรุณเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลศรีธัญญาแล้ว เมื่อถามว่า ทำไมไม่รักษาในโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลราชวิถี ที่ครูเคยเป็นพยาบาลอยู่  ตึ๋ง - บัณฑิตพงศ์ พรพิรุณ กาโซ๊ะ ลูกชายครูที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 15 มีนบุรี คันนายาว พรรคไทยศรีวิไลย์  ตอบว่า ต้องรักษาอาการทางจิตก่อน ถึงจะรักษาทางร่างกาย ฟังแล้วน่าหดหู่ใจ

นี่คือชีวิตบางส่วนของศิลปินแห่งชาติ ผู้หญิงเก่งคนหนึ่งทำงานเพื่อคนอื่นและงานแผ่นดินมานานนมกว่าครึ่งชีวิต เพิ่งจะมีคนเห็นคุณงามความดี ในตอนที่เธอมีอายุ 83 ปี