“6 สัญญาณเตือน”ดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก

“6 สัญญาณเตือน”ดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก

กรมควบคุมโรค ห่วงภัยดินโคลนถล่มในพื้นที่ฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องโดยเฉพาะตกนานกว่า 6 ชม. แนะประชาชนให้จับตาสัญญาณเตือน 6 ประการ อาทิ ระดับน้ำในลำห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำมีสีขุ่นแดง มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขาหรือลำห้วย เมื่อเกิดเหตุให้อพยพทันที

วันนี้ (6 กันยายน 2564) นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศ มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพฝนที่ตกหนักจะทำให้ดินอุ้มน้ำไว้มากกว่าปกติ ที่น่าเป็นห่วงคือ อาจเกิดปัญหาดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาหรือพื้นที่สูง เสี่ยงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยติดตามประกาศคำเตือนของทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมของมีค่าที่หยิบฉวยได้ง่าย วางแผนเส้นทางอพยพไว้ล่วงหน้าเพื่อเอาชีวิตรอดเป็นอันดับแรก และให้สังเกตสัญญาณเตือนของดินโคลนถล่ม



ซึ่งมี 6 ประการดังนี้
1. มีฝนตกหนักต่อเนื่องนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน
2. ระดับน้ำในลำห้วยหมู่บ้านสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. มีเสียงดังผิดปกติ จากภูเขาหรือลำห้วย ลำธาร
4. มีน้ำท่วมในหมู่บ้าน และระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
5. ดินในพื้นที่มีสภาพชุ่มน้ำมากกว่าปกติ เนื่องจากอุ้มรับน้ำไว้มาก
6. น้ำในลำห้วยลำธารมีสีขุ่นแดงหรือสีเดียวกับดินภูเขา

163091910125

ทางด้านนายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดเหตุดินโคลนถล่ม ขอแนะนำวิธีปฏิบัติดังนี้ ประการแรกให้อพยพ ไปตามเส้นทางปลอดภัยทันที เพื่อให้พ้นจากแนวการไหลของดิน หรือมีน้ำไหลเชี่ยวอย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร และหนีขึ้นไปยังพื้นที่สูง ประการที่ 2 ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว เนื่องจากอาจถูกน้ำพัด เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้ ประการที่ 3 ไม่ควรอยู่ใกล้ลำน้ำ เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากดิน หิน ต้นไม้ที่ไหลมาพร้อมกับกระแสน้ำ
     ประการที่ 4 หากเกิดอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ ขอให้ตั้งสติ หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจถูกไม้หรือหินกระแทกขณะอยู่ในน้ำเป็นอันตรายได้ ประการที่ 5 ไม่ควรกลับเข้าพื้นที่ทันที เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้ และควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง โดยสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 หรือสายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหมายเลข 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422