จ่อเปิด ‘กรุงเทพฯ’ รับทัวริสต์ต่างชาติ พ.ย.64 ท่องเที่ยวฯเล็งชง ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

จ่อเปิด ‘กรุงเทพฯ’ รับทัวริสต์ต่างชาติ พ.ย.64  ท่องเที่ยวฯเล็งชง ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

“กรุงเทพฯ-ปริมณฑล” จ่อเปิดเมืองรับทัวริสต์ 1 พ.ย.นี้ “พิพัฒน์” ชี้แผนเปิดประเทศระยะที่ 3 ตั้งแต่ 15 ต.ค. นักท่องเที่ยวอยู่ในเมืองนำร่อง เช่น ภูเก็ต สมุย ครบ 7 วัน แล้วเดินทางไปเที่ยวต่อได้ในอีก 25 จังหวัด เล็งชง “ศบค.” ลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 7วัน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว กรณีของการเปิดแบบไม่กักตัวทั้งประเทศจะดำเนินการได้ในวันที่ 15 ม.ค.2565 เพราะต้องรอให้การฉีดวัคซีนแก่คนในประเทศเป็นไปตามเงื่อนไขหลักไม่น้อยกว่า 70% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ก่อน

ส่วนแผนการเปิดประเทศระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) ชลบุรี (เมืองพัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ)

"ในกรณีของกรุงเทพฯจะต้องเลื่อนออกไปเปิดวันที่ 1 พ.ย.นี้ แม้ว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ประชากรในกรุงเทพฯจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสถึงเกณฑ์ 70% ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมีพื้นที่เชื่อมต่อปริมณฑลรอบด้าน จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนแก่ประชากรในปริมณฑลให้ถึง 70% ของประชากรทั้งหมดภายในเดือน ต.ค.นี้ด้วย"

อ่านข่าว : ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 13,988 ราย เสียชีวิต 187 ราย ไม่รวม ATK อีก 2,404 ราย

ขณะเดียวกันได้วางแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในเมืองนำร่อง เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย ครบ 7 วันแล้ว สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่อได้ในอีก 25 จังหวัด ในระยะที่ 3 ของการเปิดประเทศ เริ่มวันที่ 15 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน สุโขทัย, ภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี เลย (เชียงคาน) ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง(เกาะเสม็ด) จันทบุรี ตราด (เกาะกูด เกาะช้าง) ภาคตะวันตก ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง ตรัง สตูล สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา

“กระทรวงท่องเที่ยวจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้อนุมัติเดินหน้า พร้อมกับเร่งกระจายวัคซีนลงไปยังพื้นที่ดังกล่าวให้ครบ 70% ก่อนถึงกำหนดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมกันนี้จะเสนอแผนเปิดประเทศในระยะที่ 4 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 ม.ค.2565 เป็นต้นไป เป็นการทำบับเบิล (Bubble) หรือแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศตามแนวชายแดน ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมามีรายได้จากการท่องเที่ยวส่วนนี้ถึงปีละ 2 แสนล้านบาท”

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทย พบยอดผู้ติดเชื้อใหม่เบาบางลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงจากระดับ 1.5 หมื่นคนต่อวัน เหลือหลักพันคนต่อวันภายในกลางเดือนนี้หรือราววันที่ 15-20 ก.ย.นี้ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะขอหารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาลดจำนวนวันกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจากปัจจุบันอยู่ที่ 14 วัน ลดลงเหลือ 7 วัน แต่ถ้ายอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงเล็กน้อยเหลือที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นต่อคน ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯคงยังไม่กล้าเสนอให้ ศบค.และ สธ.พิจารณา