ธ.ก.ส.ชี้โควิดหนุนเกษตรกรใช้ธุรกรรมออนไลน์พุ่ง
ธ.ก.ส.เผยแนวโน้มเกษตรกรลูกค้าหันมาใช้ธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีฐานลูกค้าออนไลน์สูงถึง 2.7 ล้านราย ยอดธุรกรรมผ่านออนไลน์กับเคาวน์เตอร์ในสัดส่วน 50:50
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ลูกค้าของธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย ได้หันมาใช้ธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยธุรกรรมผ่านเคาวน์เตอร์กับออนไลน์อยู่ในสัดส่วน 50:50
“ปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารลงทะเบียนใน Application Mobile Banking มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย มีธุรกรรมที่เกิดขึ้นเดือนละ 40-50 ล้านรายการ ซึ่งผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะต้องมี Social distancing ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการโอนเงิน”
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ active มีประมาณ ล้านเศษๆ เนื่องจาก กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้าเงินฝาก ก็อาจจะคุ้นเคยทำธุรกรรมโอนเงินได้ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราทำมา 3 -4 ปีแล้ว ซึ่งสุดท้ายตอบโจทย์ลดการที่ลูกค้าต้องมาที่สาขา ทำให้ตัวเลขการทำธุรกรรมผ่านเคาเตอร์ของธนาคารประมาณ 50% และผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 50%
ในส่วนของลูกค้าที่ใช้บริการผ่านเคาวน์เตอร์ เป็นเพราะลูกค้ายังไม่คุ้นเคยกับดิจิตอล โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับอายุ 50 ปีขึ้นไป และลูกค้าสินเชื่อที่เป็นเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ตัวเลขการทำธุรกรรมดิจิตอลเซอร์วิสของธ.ก.ส. จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนก.ค.นี้ มีลูกค้าที่สมัครโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร ซึ่งธนาคารเรียกว่า A-Mobile มียอดสะสมของคนที่สมัครเข้าระบบ 2.73 ล้านราย มีการทำธุรกรรมผ่าน A-Mobile เช่น การโอนเงิน การเติมเงิน การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ,การชำระ bill payment และการฝากสลากออมทรัพย์ของธ.ก.ส. รวมเฉลี่ย 1.66 ล้านรายต่อเดือน
สำหรับบัตรอิเลกทรอนิกส์ ของธนาคาร ปัจจุบันมีบัตร ATM อยู่ 8.6 ล้านใบ ,บัตรเดบิต 1.37 ล้านใบ และบัตรเกษตรสุขใจ (คล้ายบัตรเดบิตที่ให้กับเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล) 1.2 ล้านใบ
ส่วนตู้ ATM มีจำนวน 2 พันเครื่องอยู่ในอันดับที่ 8 ในระบบสถาบันการเงิน และปีนี้ยังไม่มีนโยบายเพิ่มตู้ แต่จะอาศัยความร่วมมือกับธนาคารอื่นๆในการเข้าร่วมใช้บริการ
นอกจากนั้น ธนาคารยังมีการบริหารชำระค่าสินค้าและบริการผ่านการสแกน QR-Code ซึ่งมีหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนใช้ QR Code กับ ธ.ก.ส. 417 แห่ง ,เป็นร้านค้า 2.33 หมื่นร้านค้า และ เป็นร้านค้าโอทอป 1.21 หมื่นร้านค้า
เขากล่าวด้วยว่า ธนาคารยังได้พัฒนาระบบ Digital Lending โดยนำร่องในกลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกอสม.ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร เริ่ม 1 ต.ค.นี้ โดยสามารถกู้สินเพื่อใช้จ่ายในกรณีจำเป็น รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี
หลังจากนี้ จะขยายไปยังกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสลากออมทรัพย์ของธนาคาร โดยใช้สลากเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้ 90 % ของมูลค่าสลาก และรวมถึงแผนการให้สินเชื่อดิจิตอลกับลูกกค้ากลุ่มที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีกับธ.ก.ส. วงเงินรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท