รัฐบาลตามให้ทัน กับโควิดกลายพันธุ์

รัฐบาลตามให้ทัน กับโควิดกลายพันธุ์

ในขณะที่ "โควิด-19" กลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของเชื้อไวรัส นอกจาก "เดลตา" ที่กำลังระบาดหนักในไทยขณะนี้แล้ว ยังมีความกังวลจากสายพันธุ์ "มิว" ตามมาอีก รัฐบาลจึงต้องเตรียมพร้อมปรับมาตรการและกลยุทธ์ให้ทันกับการกลายพันธุ์ของโควิดด้วย

การระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่ชะลอตัวลงต่ำกว่าวันละ 20,000 คน ทำให้หลายฝ่ายประเมินถึงทิศทางที่ดีในการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่จากเดิมคาดว่าคิดลบ 1.5% ถึง 0.0% เป็นติดลบ 0.5% ถึง 1.0%

ถึงแม้จะเป็นการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 ในทิศทางที่ดีขึ้น และเป็นการปรับมุมมองบนฉากทัศน์ที่มาตรการควบคุมการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศไทยอยู่ในะดับที่ดี แต่เป็นการปรับมุมมองบนหมายเหตุการควบคุมการระบาดว่า หากหลังจากนี้ไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ในระดับนี้ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้สถานการณ์การระบาดยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกนาน

อ่านข่าว : ด่วน! ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบติดเชื้อเพิ่ม 13,988 ราย เสียชีวิต 187 ราย ไม่รวม ATK อีก 2,404 ราย

ในขณะที่หลายประเทศจับตามการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์มิว หรือ MU ซึ่งมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นการตรวจพบจากการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินเข้าประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการยกระดับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ MU รหัสพันธุกรรม B.1.621 ให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับการเฝ้าระวัง

สายพันธุ์ MU ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่ที่น่ากังวล คือ เป็นสายพันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมที่อาจบ่งชี้ว่าจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าวัคซีนที่ประชาชนฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดีสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง และทำให้มีการรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยออกมายืนยันว่ามาตรการป้องกันที่ประชาชนไทยดำเนินการยังเป็นกลไกการควบคุมโรคที่ดี เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือ การมีระยะห่าง

ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดที่กลายพันธุ์ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น เดลตา หรือสายพันธุ์ที่กำลังจับตามอง เช่น MU รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต คำตอบที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด คือ การป้องกันตัวเองของประชาชน

และที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ตามแผนจะฉีดในระดับที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในปลายเดือน ธ.ค.2564 หรือมากกว่า 3 เดือน เมื่อนับจากปัจจุบัน คำตอบการควบคุมโรคจึงวนไปเรื่องเดิม คือ การเข้าถึงวัคซีน อุปกรณ์ตรวจเชื้อ ยา และระบบสาธารณสุข