สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน 2564

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน 2564

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยยังยืนเหนือ 1,600 จุด ได้อย่างแข็งแกร่ง

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ตามแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงกดดัน หลังจากประธานเฟดส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นจะทำให้เฟดพร้อมเริ่มลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่าน QE ภายในปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ตามปัจจัยทางเทคนิค และเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ปลายสัปดาห์

- ในวันศุกร์ (3 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดและตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน อัตราการหมุนเวียนของแรงงาน และข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/64 ของยูโรโซนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

-  หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,650.33 จุด เพิ่มขึ้น 2.43% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 106,619.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.94% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.90% มาปิดที่ 526.33 จุด  

-  หุ้นไทยปรับตัวขึ้นท่ามกลางแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน (มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.) การส่งสัญญาณยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด สถานการณ์โควิดในประเทศซึ่งอยู่ในทิศทางทรงตัว ตลอดจนแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยในภาพรวมปรับตัวขึ้นตามแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มพลังงานที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแรงหนุนจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าของกลุ่มโอเปค  

163067152138

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,635 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,680 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. ของไทย รวมถึงประเด็นการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. และจํานวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภค