วิกฤติโควิด 4 ระลอก ฉุดความเชื่อมั่นรัฐดิ่ง คนไทยกังวลเศรษฐกิจมากสุดในอาเซียน

วิกฤติโควิด 4 ระลอก ฉุดความเชื่อมั่นรัฐดิ่ง คนไทยกังวลเศรษฐกิจมากสุดในอาเซียน

คนไทย เชื่อมั่นรัฐต่ำ หลังเผชิญวิกฤติโควิดข้ามปี พร้อมกังวลภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่มากสุดในอาเซียน ประชาชน 80% ชะลอใช้จ่าย ไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากขึ้น วอนรัฐเร่งเยียวยาลดเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข แก้ปัญหาว่างงาน ออกแพ็คเกจช่วยค่าใช้จ่าย

โรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั้งโลกยาวนานข้ามปี ส่วนไทยต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดเป็นเวลาร่วม 18 เดือนแล้ว ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ระดับสูงแตะหลัก “หมื่น” ราย ผู้เสียชีวิตหลักร้อย 

ขณะที่เรื่องปากท้องของประชาชนยังคงได้รับผลกระทบไม่แพ้กับเรื่องสุขภาพ เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว ธุรกิจหลายประเภทต้องถูกชัตดาวน์ ล็อกดาวน์ ทำมาค้าขายลำบาก อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดแต่ละระลอก สร้างผลกระทบต่อคนไทยแตกต่างกันไป 

“อิปซอสส์” บริษัทชัันนำระดับโลกด้านวิจัยการตลาดและรวจความคิดเห็นผู้บริโภคทั้งชาวไทยและอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 3,000 คน หรือประเทศละ 500 คน ผลสำรวจออกมาน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะ “คนไทย” กับความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ความเชื่อมั่นและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ฯ 

อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ครั้งนี้บริษัทได้วิจัยหัวข้อ “วิกฤตการณ์โควิด 4 ระลอก กับ การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และทัศนคติ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจ และสังคม พร้อม ปัจจัยเพื่อการปรับตัวและวางแนวทางให้กับภาคธุรกิจ และ ภาครัฐ” โดยผลวิจัยออกมาสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการระบาดของโควิดในแต่ละระลอกแตกต่างกัน 

ด้านความเชื่อมั่นต่อภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจุบัน มีคนไทยเพียง 20% ยังมองเศรษฐกิจดี โดยอีก 80% มีความกังวลใจและมองเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ย่ำแย่” ยิ่งกว่านั้นเมื่อมองไปอีก 6 เดือนข้างหน้า มีประชาชนเพียง 39% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และ 61% ยังคาดการณ์เศรษฐกิจแย่ต่อ ซึ่งถือเป็นความเชื่อมั่นที่ “ต่ำ” และค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ “มาเลเซีย” ที่มองเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้าแย่ ไม่ฟื้นตัว 

เศรษฐกิจไร้วี่แววฟื้นตัวในเร็ววัน โควิดยังมีผู้ติดเชื้อสูงกลายเป็นแรงกดดันที่กระทบ “ฐานะการเงินส่วนบุคคล” ต่อเนื่อง โดยคนไทยเฉลี่ย 64% ห่วงฐานะเงินในกระเป๋าตัวเอง ซึ่งถือว่ากังวลหนักสุดในอาเซียน เพราะกลัวการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบกระทบการงาน ปากท้อง ขณะที่สิงคโปร์ไม่ค่อยกังวลนัก เนื่องจากทุกครั้งที่รัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรคระบาดจะมีมาตรการเยียวยา แพ็คเกจต่างๆช่วยเหลือเต็มที่ โดยค่าเฉลี่ยความกังวลด้านงานเงินของชาวอาเซียนอยู่ที่ 76%

163059116532

“คนไทยกังวลฐานะการเงินส่วนตัวมากสุด เพราะหากรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ จะกระทบบางธุรกิจ ที่ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว อาจต้องกลับไปแย่กว่าเดิม ที่ผ่านมาจึงเห็นการล็อกดาวน์บางพื้นที่” 

ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย เมื่อคนไทยได้รับผลกระทบด้านอาชีพการงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา จึงมีผลต่อการใช้จ่ายสินค้า อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิดรอกล 4 ชาวไทย 11% เริ่มสบายใจและมั่นใจในเรื่องการงานมากขึ้น ทำให้กล้าจับจ่ายใช้สอยจากเดิมอยู่ที่ 7% กลับกันประชาชนอีก 89% ยังไม่มั่นใจในหน้าที่การงาน และการใช้จ่าย ดังนั้น จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ ใช้เงินมาก เช่น บ้าน รถยนต์ จะชะลอตัวใน 6 เดือนข้างหน้า 

ขณะที่พฤติกรรมการซื้อสินค้า ยังคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ได้แก่  40% ใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้าอาหารทำทานที่บ้าน 28% ซื้อสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(เพอร์ซันนอลแคร์) 34% ซื้อสินค้าทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัย ส่วนสินค้าที่ยังชะลอใช้จ่าย เป็นดังนี้ 47% ลดใช้จ่ายท่องเที่ยว  42% ชะลอใช้จ่ายกิจกรรมด้านวัฒนธรรม สังคม 37% เบรกใช่จ่ายของเล่น และ35% ลดใช้จ่ายการทานอาหารนอกบ้าน และ32% ไม่ซื้อแบรนด์ใหม่ด้วย 

“ผู้บริโภคกว่า 80% ยังคงระวังการใช้จ่าย และจะไม่ซื้อแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน หากนักการตลาดจะเปิดตัวสินค้าหรือออกแบรนด์ใหม่ในช่วงนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ” 

163059127099

นอกจากนี้ โควิดยังเป็นปฏิกิริยาเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ขาชอปออนไลน์เติบโต โดย 49% ชอปปิงออนไลน์เพิ่มขึ้น 42% เสพวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ วิว ฯ 63% ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 

56% ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น 37% หากิจกรรมอดิเรกทำมากขึ้น 38%ใช้เงินสดน้อยลง และยังพบว่าคนไทย 55% ลดการเข้าสังคม พบปะบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวด้วย เพราะต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เว้นระยะห่างกับเพื่อนฝูงนั่นเอง

ด้านความเชื่อมั่นด้านวัคซีน ปัจจุบันคนไทยเพียง 69% ที่พร้อมรับวัคซีน จากเดิม 79% พร้อมรับวัคซีน ตัวแปรที่ทำให้ประชาชนลังเลในการฉีดวัคซีน เกิดจากข่าวเท็จหรือ Fake news ที่แพร่ระจายราวกับไวรัส ทำให้กังวล ไม่กล้าฉีดวัคซีน รวมถึงการกลัวผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดในระยะยาวหลังฉีดวัคซีนด้วย 

ส่วนด้านสุขภาพในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คนไทยราว 50% รู้สึกว่าสุขภาพจิตแย่ลง และยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเมื่อเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ด้วย ค่าเฉลี่ยดังกล่าวยังสูงกว่าชาวอาเซียนด้วย ซึ่งมีสุขภาพจิตแย่ลง 39% อย่างไรก็ตาม มีประชาชน 39% รู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมามีความสุขขึ้น

163059119575

ทั้งนี้ การเผชิญวิกฤติโควิด 4 ระลอก ทำให้ 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนชาวไทยคาดหวังให้รัฐดูแล 5 ด้าน  ได้แก่ 56% ต้องการให้รัฐดูแลประชาชนปลอดภัยจากโรคโควิด 36% ต้องการให้ควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และดูแลภาวะเงินเฟ้อ 34% ต้องการให้ดูแลความมั่นคง รักษาหน้าที่การงานไว้ รวมถึงมีการจ้างงานใหม่ 26% ต้องการให้ช่วยเหลือด้านการเงิน ส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัย 24% ดูแลการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันช่องว่างของคนรวย-จน  ทำให้ “ความเหลื่อมล้ำ” มีมากขึ้น 

ส่วนความคาดหวังจากภาคเอกชน ค่อนข้างสอดคล้องกับรัฐ คือ ต้องการให้บริษัทต่างๆมีส่วนร่วมในการดูแลพนักงานให้ปลอดภัยจากโควิด  รักษาการการจ้างงานให้พนักงาน ควบคุมราคาสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับต่ำ ต้องการให้จ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น  รวมถึงการผลิตสินค้าควรมุ่งรับซื้อวัตถุดิบในชุมชน ท้องถิ่นต่างๆเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 

“การระบาดของโควิดระลอก 4 เหมือนเดินหน้าแล้วถอยหลังไปตั้งหลักใหม่ ขณะที่การฉีดวัคซีนให้ประชาชนน่าจะส่งสัญญาณดี ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่กลับมาเท่าปีก่อน สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ปี 2565 จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่แค่ในไทย แต่ทั้งโลก เพราะวิกฤติจะคลี่คลายก็มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ กระทบภาคท่องเที่ยว การลงทุนของรัฐ เอกชน”