มทร.พระนคร แปร 'เส้นใยจากใบอ้อย' สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

มทร.พระนคร แปร 'เส้นใยจากใบอ้อย' สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

วช.หนุน มทร.พระนคร แปรรูปเส้นใยจากใบอ้อย เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อให้แก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาอ้อย

การเผาอ้อยหรือใบไม้แห้ง เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ โดยเฉพาะการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 โดยปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงที่อากาศแล้งและมีปริมาณฝนน้อย เนื่องจากการชะล้างฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก 

 จากปัญหาดังกล่าว ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตระหนักถึงปัญหาของของจากการเผาอ้อย เพราะการเผาอ้อยในแต่ละครั้งสร้างมลพิษและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 

ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการท้าทายไทยเพื่อจัดการความรู้เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ประจำปี 2564 แก่เรื่อง “การพัฒนากระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งทอตามแนวคิดนิเวศเศรษฐกิจ" โดยมี 

ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อให้แก้ปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้แก่เกษตรกร และนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผาอ้อย

โดยการพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อยเพื่องานออกแบบสิ่งทอเป็นการศึกษาเส้นใยผสมจากเส้นใยใบอ้อยและเส้นใยฝ้ายเพื่อสร้างเส้นด้ายสำหรับนำไปใช้ในงานสิ่งทอโดยนำเส้นใยฝ้าย เป็นตัวช่วยในการปั่นเกลียวแบบหัตถกรรมร่วมกับวัตถุดิบหลักคือเส้นใยใบอ้อยหลังแปรสภาพ โดยอาศัยทฤษฎี Triaxial blend ในการกำหนดอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบ จากนั้นนำเส้นด้ายไปทอด้วยกี่มือ ซึ่งผลการทดลองและการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตาม มาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความแข็งแรงของผ้าต่อแรงฉีกขาด ความหนาของผืนผ้าความโค้งงอ ความแข็งแรงของเส้นด้าย

และความสามารถในการดูดซึมความชื้น แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเส้นด้ายใยอ้อยเพื่องานสิ่งทอครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสิ่งทอให้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์สามารถนำมาออกแบบและใช้งานได้จริง สร้างความหลากหลาย ของเส้นใยจากธรรมชาติ สำหรับงานสิ่งทอได้เป็นอย่างดีนั่นคือใบอ้อยเป็นพืชที่มีศักยภาพในการ ให้เส้นใยด้วยกระบวนการแบบหัตถกรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตงานสิ่งทอแบบหัตถกรรมจึงสามารถเรียนรู้กระบวนการจากงานวิจัยครั้งนี้เพื่อพึ่งตนเองในด้าน การผลิตเส้นใยธรรมชาติอันจะส่งผลต่อการพัฒนาสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์สร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันนักวิจัยได้นำกระบวนการแปรสภาพเส้นใยจากใบอ้อย ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีธรรมชาติเส้นใยจากใบอ้อย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์โดยใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ในหมู่บ้านที่มีการทอผ้าและการปลูกอ้อยอยู่แล้วในหลายพื้นที่และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ได้แก่กลุ่มทอผ้า ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 4 หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 6 บ้านเนินตะแบก, หมู่ที่ 7 บ้านหนองโกวิทย์, หมู่ที่ 8 บ้านหนองคุ้ม, และหมู่ที่ 12 บ้านสุขสำราญ 

 ผลที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรลดการเผาอ้อย และหันมานำใบอ้อยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอในรูปแบบใหม่ที่คงเอกลักษณ์โดยใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น นำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมีจุดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีนิเวศเศรษฐกิจ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้จากใบอ้อย เช่น เสื้อคลุม หมวก รองเท้า กระเป๋า และโคมไฟ