ค้นพบ ‘โสกเหลือง’ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก กระจายพันธุ์ภาคเหนือไทย

ค้นพบ ‘โสกเหลือง’ พืชชนิดใหม่ของโลก หายาก กระจายพันธุ์ภาคเหนือไทย

นักวิจัยจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ ค้นพบพืชหายากชนิดใหม่ของโลก "โสกเหลือง" กระจายพันธุ์ภาคเหนือไทย ​​

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "โสกเหลือง" เริ่มต้นเมื่อ นายวิทยา ปองอมรกุล นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotanist) ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ศึกษาวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้านและสำรวจการใช้ประโยชน์จากพืชของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

ในการวิจัยในท้องที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พบกับชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กำลังนำฝักอ่อนของพืชวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฝักของพืชสกุลโสกน้ำ โสกเหลือง หรือศรียะลา (Saraca) แต่ในขณะนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใด มาย่างไฟ เพื่อรับประทานเมล็ดภายในฝัก ทางคณะจึงสอบถามและทราบชื่อท้องถิ่นของพืชชนิดนี้ว่า ‘ตะนา’ (ภาษากะเหรี่ยง) นอกจากการนำฝักมาย่างไฟแล้ว ยังสามารถนำเมล็ดมาต้ม และนำไปตำเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกรับประทานได้ นอกจากนี้ เปลือกต้นของพืชชนิดนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีแดง

ต่อมา คณะวิจัยซึ่งประกอบด้วย นายวิทยา ปองอมรกุล ดร.ประทีป ปัญญาดี นายนัทธี  เมืองเย็น นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา อินตา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันศึกษาและตรวจสอบลักษณะของพืชชนิดนี้อย่างละเอียด จึงพบว่าเป็น พืชชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า Saraca thailandica Pongamornkul, Panyadee & Inta มีความหมายว่า พืชแห่งประเทศไทย เรียกชื่อไทยว่า "โสกเหลือง" หรือ "โสกเหลืองแม่เมย" โดยได้ตีพิมพ์การค้นพบนี้ในวารสารพฤกษศาสตร์ไทย (Thai Journal of Botany) ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 หน้า 29–36

​​โสกเหลืองพบกระจายตามธรรมชาติบริเวณริมน้ำ ตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่ความสูง 1,000–1,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบันพบเฉพาะในประเทศไทย ในท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ แต่อาจมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะแก่การปลูกสำหรับฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำในพื้นที่สูงอีกชนิดหนึ่ง นอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของพื้นที่ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์แล้ว เมล็ดยังสามารถนำมาเป็นอาหารได้อีกด้วย

​​

การค้นพบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย เพื่อการขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน

163058250211

ข้อมูล : องค์การสวนพฤกษศาสตร์