กพอ.เร่ง 'ซีพี' เพิ่มงานโยธา ลุยเคลียร์ปมทับซ้อนไฮสปีด

กพอ.เร่ง 'ซีพี' เพิ่มงานโยธา ลุยเคลียร์ปมทับซ้อนไฮสปีด

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เร่งกลุ่มซีพีลุยงานโยธาช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง หลังเคลียร์ปมทับซ้อน จ่อเบิกงบหนุนสร้างแล้วเสร็จ ก.ค.2569

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่เพิ่มลงทุนหลังจากที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเดิมชื่อ บริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ได้ลงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างแล้ว

การส่งมอบพื้นที่ในระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร จะดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.2564 รวมทั้งจะถ่ายโอนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ได้ในเดือน ต.ค.2564 และจะส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และช่วงพญาไท-บางซื่อ ได้ในเดือน ต.ค.2566

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ได้พิจารณา แก้ปัญหาซ้อนทับโครงการรถไฟความเร็วเชื่อม สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งใช้โครงสร้างโยธาร่วมกัน แต่เวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิคไม่สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ การพิจารณาแก้ปัญหาการซ้อนทับของโครงการในเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นจากงานโยธาในช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ตามแผนจะต้องมีการก่อสร้างทางรถไฟ 4 แทร็ค รองรับการให้บริการของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จำนวน 2 แทร็ค และรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม สนามบิน 2 แทร็ค โดยจากผลการศึกษาพบว่าควรก่อสร้างในครั้งเดียว เพื่อลดผลกระทบและประหยัดเวลา

 

 

ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หน่วยงานเจ้าของโครงการ จึงกำหนดในสัญญาร่วมทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากในการหารือร่างสัญญาในขณะนั้นพบว่าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เอกชนคู่สัญญามีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการอยู่แล้ว

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการลงสำรวจพื้นที่ และทำสัญญาส่งมอบพื้นที่นั้น กลับพบว่าพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่สามารถส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญานำไปพัฒนาโครงการได้ เพราะยังติดปัญหารื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยเฉพาะท่อน้ำมันในช่วงพญาไท ทำให้ข้อกำหนดของการส่งมอบพื้นที่ของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน จึงกำหนดให้มีการส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง แล้วเสร็จภายใน 4 ปี หลังจากลงนามสัญญา

ตอนแรกการรถไฟฯ มอบหมายให้ทางเอกชนของไฮสปีดเทรนเชื่อม สนามบิน เป็นผู้ก่อสร้างแทร็คช่วงทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน เพราะเอกชนมีความพร้อม แต่พอทำจริงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่พญาไท-ดอนเมืองได้ เอกชนจึงยังมีเวลาที่จะไปสร้างช่วงอื่นก่อน ส่วนช่วงพญาไท-ดอนเมือง ตามกรอบต้องส่งมอบแล้วเสร็จใน 4 ปี เอกชนจึงยังมีเวลาอีก 4 ปีค่อยมาก่อสร้างช่วงนี้ ซึ่งก็รวมช่วงทับซ้อนของไทยจีนด้วย ทำให้เป็นปัญหา”

รายงานข่าว ระบุด้วยว่า จากปัญหาของการรื้อย้ายสาธารณูปโภคช่วงพญาไทที่ต้องใช้เวลานั้น เป็นผลกระทบต่อโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน ที่เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง และเหลือช่วงของการพัฒนาเพียงพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทำให้ต้องการมีหารือร่วมกับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินขของกลุ่มซีพี เพื่อปรับแก้สัญญาให้กลุ่มซีพีดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ในพื้นที่ทับซ้อนนี้ก่อน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน ก.ค. 2569

ทั้งนี้ จากการปรับแก้สัญญาดังกล่าว มีข้อกำหนดให้ทางกลุ่มซีพีดำเนินการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้จัดสรรวงเงินลงทุนไปล่วงหน้า และระหว่างการก่อสร้างนั้น สกพอ.จะดำเนินการทยอยจ่ายเงินลงทุน ซึ่งจะเป็นการนำวงเงินลงทุนจากโครงการไฮสปีดเทรน 3 สนามบินที่สัญญาก่อนหน้านี้กำหนดว่า สกพอ.จะอุดหนุนเงินลงทุนก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ภายใน 4 ปีหลังลงนามสัญญา และเงินก่อสร้างอีกส่วนจะเป็นเงินลงทุนของโครงการรถไฟไทยจีน เพื่อนำมาจ่ายชดเชยให้กลุ่มซีพี

ทางออกตอนนี้เพื่อเร่งก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองให้ทันต่อการใช้งานของไฮสปีดเทรนไทยจีน ทางกลุ่มซีพียอมที่จะจัดหางบประมาณมาก่อสร้างให้ก่อน และระหว่างนั้น สกพอ.จะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งเป็นเงินก้อนส่วนของงานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามกรอบกำหนด แต่เป็นการเบิกจ่ายมาลงทุนก่อน และค่าก่อสร้างอีกส่วน ก็จะมาจากสัญญารถไฟไทยจีน”

สำหรับความคืบหน้าของการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันได้ ร.ฟ.ท.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญามีความคืบหน้า 86% รวม 5,521 ไร่ และพร้อมส่งมอบส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยจะโอนสิทธิ์ในการบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายในเดือน ต.ค.นี้

ด้านกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้างานสำคัญที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ประกอบด้วย 

1.การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ร.ฟ.ท.ได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว 634 สัญญา มูลค่า 3,599 ล้านบาท จากจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท 

2.การโยกย้ายผู้บุกรุก ที่กีดขวางการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ได้ดำเนินการโยกย้ายแล้วเสร็จ 100%

3.งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูโภคช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาแล้วเสร็จ 257 จุด และอยู่ระหว่างการรื้อย้าย 396 จุด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินงาน เพื่อให้แล้วเสร็จทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ คือ ภายในเดือน ก.ย. 2564