นักวิจัยไทยพัฒนา 'สารโรโดไมรโทน' สารสกัดใบกระทุ ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่

นักวิจัยไทยพัฒนา 'สารโรโดไมรโทน' สารสกัดใบกระทุ ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่

วช. ชู นักวิจัยไทย กลุ่มแรกของโลก “พัฒนาสารโรโดไมรโทนสารสกัดใบกระทุ” ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ รองรับปัญหาเชื้อดื้อยา และการใช้เทคโนโลยีต่อยอดเป็นนวัตกรรมสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 64

ศ.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ เผยการศึกษาสารโรโดไมรโทนจากใบกระทุ (วงศ์ชมพู่) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่เพื่อรองรับปัญหาเชื้อดื้อยา และการใช้เทคโนโลยีต่อยอดเป็นนวัตกรรมสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จัดเป็นปัญหาวิกฤตระดับชาติและระดับโลกที่ควรตระหนัก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี และเชื้อแบคทีเรียยังคงพัฒนาความสามารถในการต่อสู้กับยาปฏิชีวนะได้รุนแรงมากขึ้น ยาที่เคยใช้อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป อีกทั้งอุตสาหกรรมยาทั่วโลกยังขาดการวิจัยในการคิดค้นพัฒนายาชนิดใหม่ขึ้น เพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้อย่างทันท่วงที ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์แผนปัจจุบัน และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การริเริ่มขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้นำผลงานไปใช้ประโยชน์ ทั้งมิติวิชาการและมิติสังคม โดยบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลงานวิจัยชิ้นนี้

จึงได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2564 แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจาก เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลกที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการศึกษาสารโรโดไมรโทนเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์จนได้รับการยอมรับและเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ในระดับโลก รวมทั้งขยายผลจากองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์หลายชนิดเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยาให้กับสังคมในหลายมิติ

ศาสตราจารย์ ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า ได้ศึกษาสารโรโดไมรโทนจากสมุนไพรใบกระทุ (วงศ์ชมพู่) พบว่า มีสารโรโดไมรโทนที่มีประสิทธิภาพสูงในการต้านแบคทีเรียกลุ่มกรัมบวกที่ดื้อยาปฏิชีวนะ เป็นสารในกลุ่ม Acylphloroglucinols มีประสิทธิภาพที่เทียบเท่ายา Vancomycin กลุ่ม Glycopeptide ซึ่งเป็น Last resort antibiotics ที่จะใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ในการรักษา Systemic And Life-Threatening Infections เพื่อพัฒนาเป็นยาใหม่ที่ใช้ต้านและฆ่าเชื้อดื้อยา

ถือเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกของโลกที่เผยแพร่ผลการศึกษาในระดับชีวโมเลกุลถึงกลไกการออกฤทธิ์ของสารโรโดไมรโทนในระดับนานาชาติ สารใช้กลไกการออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับยาปฏิชีวนะกลุ่มออกฤทธิ์ที่เซลล์เมมเบรนที่มีใช้ในปัจจุบัน โดยจับกับ Lipid head ยับยั้งการทำงานของระบบหายใจและการสร้างพลังงานของแบคทีเรีย ทำให้มีความท้าทายที่จะต้องพัฒนาต่อ เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ 

ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่นี้ แยกได้จากสารธรรมชาติ เป็นการวิจัยเชิงบูรณาการโดยการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับเภสัชกร สัตวแพทย์ แพทย์ และภาคเอกชน ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่มีสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรรวมกว่า 18 รายการ ได้เผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ในระดับนานาชาติกว่า 60 รายการ และเกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีผลงานวิจัยรองรับในภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการใช้ยาปฏิชีวนะทางเคมี และช่วยในการส่งเสริมสุขภาพของคนและสัตว์ อีกทั้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศ สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านปริมาณวัตถุดิบใบกระทุที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรม จึงได้มีการศึกษาพืชชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน โดยใช้ใบยูคาลิปตัสที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมกระดาษ ในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นอนุสิทธิบัตรไทย “สูตรองค์ประกอบของซิลเวอร์นาโนที่สังเคราะห์โดยใช้กรรมวิธีการสกัดสารจากพืชวงศ์ชมพู่เป็นสารต้านจุลินทรีย์” เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อีกจำนวนมาก อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบสารโรโดไมโทนที่สูงมาก จึงได้พัฒนาวิธีการสกัดสารกึ่งบริสุทธิ์จากใบกระทุที่มีฤทธิ์ดีและมีต้นทุนเป็นที่น่าพอใจของภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นอนุสิทธิบัตรอีกผลงานหนึ่ง

นอกจากนี้ ได้นำไปใช้เป็นข้อมูลและนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านชุมชนหรือสังคม ที่มีการพัฒนาสูตรตำรับครีมโรโดไมรโทนที่ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน พร้อมทั้งวิธีการผลิต และขยายผลความร่วมมือกับโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และเจรจาเชิงพาณิชย์กับ บจก.เบญญา เมดิคอล อินโนเวชันส์ ในการพัฒนาเป็นยาสำหรับฉีดในการรักษาโรคสะเก็ดเงินและยาต้านอักเสบในโรคที่มีพยาธิสภาพการอักเสบเรื้อรังได้

การพัฒนานวัตกรรมท่อหายใจที่เคลือบด้วยอนุภาคซิลเวอร์นาโน เพื่อยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไบโอฟิล์ม ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ได้ 99.9%-99.99% ปัจจุบันนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลงานวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่ต้องใส่ท่อหายใจเป็นเวลานานและเกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย ดังเช่น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน ซึ่งมูลค่าของท่อที่เคลือบซิลเวอร์นาโนนี้มีราคาสูงถึง 16,000 บาท จากปกติที่ไม่มีการเคลือบจะอยู่ที่ 120 บาท 

ในเชิงพาณิชย์ บริษัท อมินตา คอสโม จำกัด ได้นำนวัตกรรมไลโปโซมไรโดไมรโทนเจลที่ประสิทธิภาพในการรักษาสิว ที่ได้รับรางวัลระดับโลก (Gold Medal จาก Brussels Diploma Eureka 2015, Prize on Stage จาก Technology Park, Silicon Valley และ Innovation Award จาก ORIGITEA Institute of Health & Beauty, Russia) ไปขยายผล นวัตกรรมถุงมือยางทางการแพทย์ ที่เคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีสารยูคาลิปตัสหรือกระทุเป็นองค์ประกอบ

ที่ปัจจุบันต้องนำเข้าในราคาคู่ละ 145 บาท จากถุงมือที่ไม่เคลือบสารจะมีราคาคู่ละไม่เกิน 10 บาทเท่านั้น โดยปัจจุบันได้ร่วมมือกับ บริษัท Hycare International จำกัด นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จากการใช้สารสกัดจากใบกระทุอื่น ๆ อีก อาทิ ครีมป้ายเต้านมโคผสมสารสกัดจากใบกระทุ อาหารเสริมสุขภาพปลาเพาะเลี้ยงผสมสารสกัดจากใบกระทุ 

นับว่าเป็นการต่อยอดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในหลายรูปแบบพร้อมทั้งสร้างและผลักดันนักวิจัยที่มีความเป็นมืออาชีพ ให้เป็นประชาคมวิจัยที่มีความเข็มแข็ง สร้างรายได้และอาชีพให้วิสาหกิจชุมชนบ้านนก อ. ระโนด จ.สงขลา โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกต้นกระทุที่ได้มาตรฐาน GAP ในการเตรียมวัตถุดิบใบกระทุสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การวางนโยบาย เพื่อผลักดันผลงานวิจัยยาใหม่ในการรองรับการใช้งานจากปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นวิกฤตของโลกต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ