'ถุงมือยาง' เติบโตรับโควิด-19 คาดปี 64 ปริมาณการใช้ 4.2 แสนล้านชิ้น

'ถุงมือยาง' เติบโตรับโควิด-19 คาดปี 64 ปริมาณการใช้ 4.2 แสนล้านชิ้น

โควิด-19 ตัวเร่งตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เติบโต หนึ่งในนั้นคือ "ถุงมือยาง" ซึ่งได้รับผลบวกจากการแพร่ระบาดทั้ง 'ถุงมือยางทางการแพทย์' และถุงมือยางที่ใช้ในชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งไทยนับเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ส่งออก รองจากมาเลเซีย

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทย ซึ่งส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก การผลิตต่อปีกว่า 46,000 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นถุงมือทางการแพทย์สัดส่วนกว่า 88% ดังนั้น การสนับสนุนวิจัย นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมยางพาราไทย โดยเฉพาะน้ำยางข้น จะช่วยผลักดันตลาดถุงมือยางไทย ให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น

จากบทวิเคราะห์ของ กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2564 มีแนวโน้มอยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 360,000 ล้านชิ้น

  • ส่งออกถุงมือยาง โต 230%

ไตรมาสแรกของปี 2564 ไทยส่งออก "ถุงมือยาง" 6,494 ล้านคู่ ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 230% จากช่วงเดียวกันของปี 2563

ผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และสำหรับในปี 2564 นี้ กำลังการผลิตถุงมือยางของไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านชิ้น และจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม ณ สิ้นปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 56,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 22% จากปี 2563

163042588160

  • ไทยส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก

ขณะที่ข้อมูลจาก สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย (ธ.ค. 63) พบว่า ปัจจุบันไทย มีกำลังการผลิตถุงมือยางรวมต่อปี 46,000 ล้านชิ้น เป็นถุงมือทางการแพทย์สัดส่วน 88% และสินค้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ 90% ส่งออกต่างประเทศเป็นอันดับ 2 ของโลก “วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางตลาดโลกปี 2563 เพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 3.6 แสนล้านชิ้น และคาดว่าปี 2564 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% 

สมาคมเตรียมผลักดันผู้ผลิตถุงมือยางของไทยให้ขยายการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทุกด้าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 20% จากปัจจุบัน 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่ 40% ในอนาคต หลังจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซียและจีนขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจีนเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกให้ใกล้เคียงกับไทย จากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงมือยางมีส่วนแบ่งตลาด (จากปริมาณการขาย) อันดับ 2 ของโลก

163042583933

สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่า ความต้องการถุงมือยางโดยเฉพาะ "ถุงมือยางทางการแพทย์" นับเป็นโอกาสที่ดีของ "ยางพาราไทย" โดยมี น้ำยางข้น” เป็นตัวชูโรง เนื่องจากน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยาง สำหรับในระยะถัดไป น้ำยางข้นน่าจะยังมีศักยภาพต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่ที่หันมาใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้นในระยะยาว

จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรที่มีศักยภาพในการลงทุนเครื่องจักร และมีความรู้ในการ แปรรูปน้ำยางสดเป็น "น้ำยางข้น" รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายของสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน ขณะที่โรงงานแปรรูปน้ำยางข้นที่มีศักยภาพอาจขยายสู่การผลิตถุงมือยาง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมเสนอภาครัฐในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยาง ตอบโจทย์ตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

  • นวัตกรรม เสริมศักยภาพยางพาราไทย

หนึ่งนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศได้แก่ “ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา” ซึ่งคิดค้นโดยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจได้เองไม่ต้องพึ่งห้องแล็บ สะดวกรวดเร็วรู้ผลภายใน 1 นาที พร้อมจดอนุสิทธิบัตรแล้วเรียบร้อย

163042592089

ศ.ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิบายว่า ไอออนแมกนีเซียมที่อยู่ในน้ำยางจะทำปฏิกิริยากับคาร์บอกซีเลตที่อยู่บนผิวน้ำยางทำให้คุณภาพของน้ำยางลดลง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูป เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย เป็นต้น จึงต้องมีการตรวจวิเคราะห์

163065957233

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ และตลาดสินค้าเกษตร ได้กำหนดปริมาณไอออนแมกนีเซียมในน้ำยางธรรมชาติก่อนนำไปผลิตเป็นน้ำยางข้นให้มีค่าน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) เพื่อให้ได้น้ำยางมีคุณภาพตรงตามข้อกำหนด ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ค่าบริการต่อปริมาตรตัวอย่าง 200 มิลลิลิตร จะมีค่าบริการอยู่ที่ 500 บาท (ไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ)

163042592358

ด้าน รศ.ดร.ปุริม จารุจำรัส ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา จะเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรทำงานง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 70-80% ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ก็ทำได้อย่างรวดเร็วทราบผลภายใน 1 นาที 

ทั้งยังใช้ปริมาณตัวอย่างน้อยแต่ให้ผลการวิเคราะห์เชิงกึ่งปริมาณที่มีความถูกต้องแม่นยำ ใช้สารเคมีและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยจึงทำให้มีปริมาณของเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน นวัตกรรมดังกล่าวเหมาะกับผู้ประกอบการที่แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น ซึ่งต้องมีการตรวจวัดแมกนีเซียมก่อนและหลังการผลิตน้ำยางขั้นต่อไป จะช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

163042592079

“ชุดทดสอบแมกนีเซียมฯ ได้จดอนุสิทธิบัตรปี 2561 ผลงานตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus และ web of science เชื่อมั่นว่างานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเชิงการค้าในอุตสาหกรรมยางพาราได้ในอนาคต” รศ.ดร.ปุริม กล่าว