‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.44บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.44บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ความหวังเศรษฐกิจฟื้นหลังการระบาดโควิดเริ่มทรงตัว และตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง แต่เงินบาทยังผันผวนได้ จับตายอดติดเชื้อโควิดในไทย1เดือน หลังคลายล็อกดาวน์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.35- 32.50บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(26..)  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้ามองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35- 32.50 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและรัฐบาลได้ประกาศทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%) 

จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง ซึ่งอาจจะต้องจับตาแนวโน้มการระบาดในระยะ 3-4 สัปดาห์ หลังจากสัปดาห์แรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ จนอาจกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่

นอกจากนี้ เรามองว่า แนวรับหลักของเงินบาทยังอยู่ในโซน 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์อยู่ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าเร็วของเงินบาทอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนในตลาดค่าเงินมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทไม่ผันผวนไปมากและมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบได้ในระยะสั้น

ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยความคาดหวังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กอปรกับผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่ได้กังวลประเด็นการปรับลดคิวอีมากเท่าใด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณสนับสนุนการลดคิวอีในช่วงปลายปี  ในฝั่งสหรัฐฯ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.43% ส่วนทางด้านดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.90% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิหุ้น Apple ที่ปรับตัวขึ้นกว่า +3.0%

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังได้แรงหนุนจาก บอนด์ยีลด์ 10ปี ที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำใกล้ 1.30% ต่อ ส่วนในฝั่งยุโรป บรรยากาศการลงทุนที่เปิดรับความเสี่ยงได้ช่วยหนุนให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.19% เช่นกัน นำโดยหุ้นเทคฯ อย่าง Infineon Tech. +1.54%, Adyen +0.88%, ASML +0.87%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 4bps สู่ระดับ 1.28% หลังจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอีมากเท่าที่ตลาดคาดหวังไว้โดยเฉพาะประเด็นอัตราการปรับลดคิวอี

ขณะเดียวกัน บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากการซื้อของกลุ่มผู้เล่นที่ต้องการปรับสถานะพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม (Portfolio Rebalancing) หลังจากที่สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นบางส่วนจำเป็นต้องทยอยเข้ามาซื้อบอนด์เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนในบอนด์ให้สูงขึ้นสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 92.71 จุด เนื่องจากตลาดยังคงรอดูยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ 

โดยตลาดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดโดยหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจการทยอยลดคิวอีในปีนี้มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าลงหนัก

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence Index) โดย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มลดลงเหลือ 123 จุด จากความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจกดดันให้การบริโภคในสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงในระยะสั้น

ส่วนในฝั่งจีน นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่อง หลังจีนเผชิญทั้งปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่กดดันให้รัฐบาลจีนใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด รวมถึงปัญหาน้ำท่วมใหญ่ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่ลดลงสู่ระดับ 50.1 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการก็จะปรับตัวลงสู่ระดับ 52 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการคุมเข้มภาคธุรกิจโดยรัฐบาลจีนมากขึ้น หลังจากล่าสุด ทางการจีนเตรียมประกาศควบคุมเวลาในการเล่นเกมส์ของเยาวชน ซึ่งอาจส่งผลให้ หุ้นเทคฯ จีน ที่มีรายได้จากธุรกิจเกมส์ออนไลน์ต่างปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้