ล้วงประสบการณ์แบรนด์ไทย ปักหมุด 'นวัตกรรม’ พิชิตใจลูกค้า

ล้วงประสบการณ์แบรนด์ไทย ปักหมุด 'นวัตกรรม’ พิชิตใจลูกค้า

“ธุรกิจนวัตกรรม” เปรียบเสมือนกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสความแตกต่างให้เป็นผลผลิตที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม ในมุมมองของ“ประเทศไทย” ถือได้ว่ามีบริษัทที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและระดับภูมิภาคไม่น้อยเลยทีเดียว

ในงานสัมมนา Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal หัวข้อ “ธุรกิจนวัตกรรมของไทย” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดพื้นที่ให้แบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและระดับภูมิภาคได้แชร์แนวคิดการทำธุรกิจภายใต้วิถีธุรกิจยุคใหม่

หนึ่งในนั้นคือ "Pomelo Fashion หรือ โพเมโล" ในฐานะบริษัททางด้านแฟชั่น และเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มีต้นกำเนิดและสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2556 เมื่อ "เดวิด จู" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง มีความสนใจที่จะทำธุรกิจในรูปแบบขายสินค้าเฉพาะกลุ่มมากกว่าธุรกิจแนว General E-commerce หรือ ขายสินค้าหลากหลาย จึงก่อตั้ง “Pomelo” ขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาค

ปิดจุดอ่อนแฟชั่นเทค

“โพเมโล” เป็นแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงทั้งสินค้าของบริษัท และแบรนด์เสื้อผ้าราว 275 แบรนด์ในแพลตฟอร์มเดียวกัน รวมทั้งมีลูกค้ามากกว่า 2 ล้านรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อีกด้วย

เดวิด เล่าว่า บริษัทให้ความสนใจในตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ตลาดแฟชั่นในกลุ่มเจน Z และ กลุ่มมิลเลนเนียล โดยตลาดแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีมูลค่าสูงถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนต่างของราคาและต้นทุนสูง

“ทุกปีกูเกิลและเทมาเส็กได้ออกรายงานวิจัยเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรายงานนั้นคาดการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่จริงๆ แล้ว บริษัทสามารถทะลุเป้าได้เร็วกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดในภูมิภาคนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19”

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ถูกดึงดูดเข้ามามากขึ้น โพเมโลเองก็มีพาร์ทเนอร์รายสำคัญ อย่างเช่น เครือเซ็นทรัล และยังมีทุนจากนักลงทุนเข้ามาอีกด้วย ในขณะเดียวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ยังไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะโปรแกรมที่สามารถค้นหาข้อมูลของลูกค้าและวิเคราะห์ตลาดให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออีคอมเมิร์ซอย่างมาก

อีกทั้งการพัฒนาทางด้านเอไอทั้งในส่วนของ แมชชีนเลินนิ่ง เอไอและบิ๊กดาต้า ทำให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มตลอดเวลา ดังนั้น การเข้าถึงทุนจึงสิ่งสำคัญต่อบริษัทอีคอมเมิร์ซ แต่กระนั้นถึงแม้ว่าบริษัทของเขายังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็กำลังมองดูลู่ทาง และคาดว่าหากจะจดทะเบียนก็ควรจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพราะมีสภาพคล่องสูง และมีนักลงทุนหลากหลายประเภทที่บริษัทสามารถจะเข้าถึงได้

“เมื่อมองดูเทรนด์ต่างๆ บนลาซาด้า จะเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทรัพยากรทั้งหมดพร้อมสำหรับนวัตกรรม ซึ่งกุญแจสำคัญในสถานการณ์นั้นคือ ทุกภาคส่วนจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านในเรื่องของดิจิทัล ทางเราเลือกที่จะเข้าสู่วงการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เพราะเราเริ่มมองเห็นโอกาสที่แตกต่างที่จะนำไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ประการที่สองคือเรื่องของคน เราได้มีการเรียนรู้จากผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายอื่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในสิ่งนี้”

รวบตลาดบริหารโลจิสติกส์

แบรนด์ต่อไปที่จะกล่าวถึงนั่นคือ a Commerce (เอคอมเมิร์ซ)” สตาร์ทอัพที่ให้บริการแพลตฟอร์มและโซลูชั่นสำหรับอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของความซับซ้อนและการกระจายตัวของตำแหน่งอีคอมเมิร์ซทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการวางแผนและการลงทุนสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการเปิดตัวแบบอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร 

เอคอมเมิร์ซทำหน้าที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับแบรนด์ ที่ช่วยดูแลจัดการเส้นทางอีคอมเมิร์ซในตลาดต่างๆ และช่วยเหลือในเรื่อง BI, CRM, แอดมินดูแลระบบ และ APIs รวมไปถึงระบบการจัดส่งและการจัดส่งสินค้า

เอคอมเมิร์ซ เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของ พอล ศรีวรกุล ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ไทยน่าสนใจคือ ยอดการซื้อแต่ละครั้งหรือที่เรียกว่า basket size สูงอย่างน่าพอใจ เมื่อเทียบกันอินโดนีเซียที่มีขนาดของตลาดใหญ่กว่า แต่ basket size น้อยกว่าไทย นอกจากนี้ไทยก็ยังมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีเพียงพอที่จะรองรับพัฒนาการของอีคอมเมิร์ซ ดังนั้น เมื่อเขาเริ่มธุรกิจในปี 2556 ก็เริ่มเห็นว่าตลาดเริ่มขยายตัว

“ตอนนี้ไทยมีอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ อยู่ในตลาดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีดอทคอม รวมทั้งมาเจนโตะ และอื่น ๆ นอกจากนี้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ก็เข้ามามีบทบาทในตลาดนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับแบรนด์มากกว่า 150 แบรนด์ เนื่องจากบรรดาเจ้าของแบรนด์ต่างเริ่มหาหนทางที่จะเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งพยายามหาข้อมูลเพื่อรู้จักลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การเลือกซื้อ การเลือกวิธีการจ่ายเงิน ดังนั้น เอคอมเมิร์ซ จึงได้ให้บริการข้อมูลเหล่านั้นแก่ลูกค้า และให้ลูกค้าแบรนด์ต่างๆ สามารถเข้าถึงช่องทางการซื้อขายที่หลากหลาย”

เรียนรู้ ที่จะไปต่อ

พอล กล่าวอีกว่า ตลาดของสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จะมีพัฒนาการที่สูงกว่าตลาดในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้บริษัทหันมาลงทุนแพลตฟอร์มในตลาดนี้และก่อตั้งบริษัทในไทย นอกจากนี้บริษัทตัดสินใจที่จะระดมทุนผ่านหุ้นนอกตลาดหรือ private equity ก็สามารถระดมทุนได้สูงถึง 100 ล้านดอลลาร์และได้พาร์ทเนอร์อย่าง DKH ที่เป็นผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาให้คำปรึกษา ซึ่งช่วยด้านยุทธศาสตร์การเติบโตได้อย่างมาก

“บริษัทนวัตกรรมหน้าใหม่ สามารถเรียนรู้ได้จากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และสามารถนำเอาความรู้ที่ได้อย่างการกระตุ้นยอดขายออนไลน์มาปรับใช้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ารายอื่นๆ และมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นช่วยให้บริษัทของคุณมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นเช่นกัน”