‘สหรัฐ’ เปิดศูนย์ควบคุมโรคฯที่ ‘เวียดนาม’ ปูเครือข่าย ‘อาเซียน’ ต้านโควิด

‘สหรัฐ’ เปิดศูนย์ควบคุมโรคฯที่ ‘เวียดนาม’ ปูเครือข่าย ‘อาเซียน’ ต้านโควิด

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับมือโรคระบาดตั้งแต่ไข้สมองอักเสบ ซาร์ส ไข้หวัดนก จนถึงโควิด-19 ที่ทั่วโลกรับผลกระทบ ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ต้องจัดตั้งสำนักงานในภูมิภาคอาเซียน สร้างเครือข่ายความมั่นคงสาธารณสุข

‘นพ.มิทเชลล์ วูฟ’ หัวหน้าสำนักงานด้านการแพทย์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) กล่าวว่า ซีดีซีทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก นานกว่า 70 ปี และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำความสำคัญในการเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน เพื่อหยุดภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ ป้องกันไม่ให้แพร่กระจายได้ทันท่วงที

สหรัฐ สนับสนุนประเทศพันธมิตรให้มีความมั่นคงด้านสุขภาพและรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมถึงไข้หวัดใหญ่ เมอร์ส ซิกา และอีโบลาเพิ่มการความพร้อมในการต่อสู้ภัยคุกคามจากโรคต่างๆ และวิกฤติสุขภาพระดับโลกในอนาคต” นพ.วูฟ ระบุ และกล่าวว่า ซีดีซีมีกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาคที่ตระหนักว่า โรคภัยไข้เจ็บไม่มีพรมแดน และความร่วมมือข้ามประเทศเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะเดียวกัน ยังวางแผนรับมือกับการระบาดโรคให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในนั้นได้จัดตั้งเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ในการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ กับสำนักงานในภูมิภาคต่างๆ

ขณะนี้ได้เปิดดำเนินงานแล้ว ได้แก่ 1.สำนักงานประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ ที่เมืองบราซิเลีย ประเทศบราซิล 2.สำนักงานประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง - แอฟริกาเหนือ ตั้งอยู่ในเมืองมัสกัต ประเทศโอมาน 3.สำนักงานภูมิภาคยุโรปตะวันออก-เอเชียกลางที่ตั้งอยู่ในเมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย

4.ส่วนสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ทางสหรัฐหวังจะเพิ่มความมีส่วนร่วมด้านสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาบุคลากร และเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ สหรัฐยังทยอยเปิดสำนักงานจนครบ 7 แห่ง

163025068886

‘นพ.จอห์นแมคอาเธอร์’ ผู้อำนวยการซีดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้สำนักงานแห่งนี้จะเพิ่งเปิดดำเนินงานใหม่ แต่ยึดถือแนวปฏิบัติของซีดีซีที่ทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรแบบเชิงรุกมากกว่า 70 ปี สำหรับความร่วมมือกับอาเซียนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2593 เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดโรคมาลาเรีย

รองประธานาธิบดีสหรัฐ คามาลา แฮร์ริส ร่วมกับฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม และเหวียน ทัน ลอง รัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนาม ได้ร่วมเปิดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 25 .. 2564

นพ.แมคอาเธอร์ เล่าว่า เหตุผลที่เลือกเวียดนามเป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำภูมิภาคนี้ เพราะมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสหรัฐตระหนักดีว่า เวียดนามมีบทบาทอย่างแข็งขันต่อการร่วมมือสหรัฐในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะความมั่นคงด้านสาธารณสุข

เวียดนามกำลังจะเป็นประเทศแรกภายใต้แผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดี เพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (President’s Emergency Plan for AIDS Relief) ที่มีแนวทางบริหารจัดการรับมือกับเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ของตนเองภายในสิ้นปี 2563 โดยอาศัยทรัพยากรภายในประเทศและการจัดสรรเงินทุนอย่างยั่งยืน

ซีดีซีหวังลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาให้เกิดเชื้อโรคใหม่ๆ ที่อาจเกิดการระบาดใหญ่ และทำงานเพื่อบรรเทาปัญหาที่ต้นทาง สู่การจัดการกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในอนาคต

"ขณะนี้ สหรัฐได้บริจาควัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมกว่า 23 ล้านโดส รวมทั้งคำมั่นที่จะมอบเงินเข้ากองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของอาเซียน 500,000 ดอลลาร์ เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ สหรัฐยังประกาศมอบจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์อีก 500 ล้านโดสเข้ากาวี องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน เพื่อส่งวัคซีนผ่านโคแวกซ์ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า สหรัฐพยายามจะโน้มน้าวใดๆ แต่เราส่งเสริมให้ใช้วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ"นพ.แมคอาเธอร์ กล่าวในตอนท้าย