เปิดเงื่อนงำ-จุดอ่อนคดี “โจ้คลุมถุง” ตำรวจเอาผิดตำรวจ...ไม่ง่าย

เปิดเงื่อนงำ-จุดอ่อนคดี “โจ้คลุมถุง”   ตำรวจเอาผิดตำรวจ...ไม่ง่าย

 “คดีอดีตผู้กำกับโจ้” ยังทิ้งไว้ซึ่งเงื่อนงำ ที่ค้างคาใจจากคนในสังคม พร้อมคำถามดังๆว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบแล้วหรือยัง?

ต้องบอกว่า คดีอดีตผู้กำกับโจ้ มอบตัวแล้วนึกว่าจะจบ แต่จริงๆ ไม่จบง่าย เพราะกลายเป็นประเด็นคาใจสังคม จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ประเด็นใหญ่ๆ แยกออกเป็น 2 กลุ่มก้อน คือ

หนึ่ง การมอบตัวเป็นการจัดฉากหรือไม่ แถมเปิดสายให้คุยกับสื่อเพื่อเคลียร์ตัวเองหรือเปล่า?

สอง คำให้การของ “อดีตผู้กำกับโจ้” ทั้งที่บอกกับสื่อ และไปปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน จะทำให้ “อดีตผู้กำกับโจ้” โดนโทษสถานเบาหรือไม่?

เริ่มจากประเด็นแรกก่อน มีข้อสังเกตแยกย่อยหลายเรื่อง

1.“อดีตผู้กำกับโจ้” หนีไปหลบไปกบดานที่ จ.ชลบุรี ก่อนตัดสินใจมอบตัวจริงหรือไม่

ประเด็นนี้ทางฝั่งตำรวจทำคลิปออกมาชี้แจง มีภาพถ่าย และกล้องวงจรปิดที่จับภาพรถ “อดีตผู้กำกับโจ้” ระหว่างหลบหนี จากนครสวรรค์ไปชลบุรี

คำสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 (รอง ผบช.ภ.6) ที่เล่าให้สื่อฟังอย่างค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับฉากการมอบตัว ตั้งแต่ “อดีตผู้กำกับโจ้” โทรมาร้องไห้ กระทั่งนัดแนะกันไปรับมอบตัวหน้า สภ.แสนสุข จ.ชลบุรี (ตามที่แถลงข่าว)

ข้อมูลของ พล.ต.ต.เอกรักษ์ สอดคล้องกับข้อมูลที่ บิ๊กภาค 6” ให้กับทีมข่าว สรุปก็คือ “อดีตผู้กำกับโจ้” หนีไปกบดานที่ชลบุรี ไปหลบอยู่ในคอนโดมีเนียมสูงกว่า 13 ชั้น แต่ “อดีตผู้กำกับโจ้” อยู่ชั้น 13 ตอนที่โทรหา พล.ต.ต.เอกรักษ์ เพื่อขอมอบตัว จริงๆ เป็นการโทรมาลาตาย ร้องไห้ บอกว่ากำลังจะกระโดดตึก แต่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ได้เกลี้ยกล่อมจนยอมเข้ามอบตัว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พล.ต.ต.เอกรักษ์ เชื่อสนิทใจ จากนั้นก็ขับรถส่วนตัวไปตามนัด ยืนรอตรงข้ามโรงพัก สภ.แสนสุข แล้ว “อดีตผู้กำกับโจ้” ก็เดินทางมา จอดรถฝั่งตรงข้าม ลงจากรถเดินมาหา แล้วบอกว่า “ผมโจ้ครับ” ทำให้ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ไม่ทันสังเกตรถที่มาส่งว่าทะเบียนอะไร

พล.ต.ต.เอกรักษ์ บอกกับคนใกล้ชิดว่า าทีนั้นจะให้คุมตัวโจ้ไว้ หรือวิ่งไปดูทะเบียนรถ ซึ่งเขาเลิกคุมตัวโจ้ จากนั้นก็เข้าไปโรงพัก ผู้กำกับฯ สภ.แสนสุข อยู่พอดี ก็ทำเรื่องรับมอบตัว โทรบอก ผบ.ตร. และพา “อดีตผู้กำกับโจ้” ไปกองปราบ โดยผู้กำกับฯ สภ.แสนสุข ขับรถไปส่งขึ้นทางด่วน

ทำไม “อดีตผู้กำกับโจ้” จึงโทรหา พล.ต.ต.เอกรักษ์ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ไม่ได้สนิทสนมกันมาก พล.ต.ต.เอกรักษ์ เพิ่งย้ายไปภาค 6 ได้ไม่นาน และไม่ได้มีสายสัมพันธ์กันมาก่อน 

แหล่งข่าวบางคนยืนยันว่า พล.ต.ต.เอกรักษ์ เพิ่งเจอ “อดีตผู้กำกับโจ้” ช่วงไปประจำที่ภาค 6 นี้เอง จากจุดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม “อดีตผู้กำกับโจ้” ต้องโทรหา แล้วไปร้องไห้กับคนไม่ได้สนิทสนมกันมาก เรื่องนี้เป็นความจริงแค่ไหน อย่างไร

2.ข้อมูลทั้งหมดนี้ ตรงกันข้ามกับที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้มาจากแหล่งข่าว แต่ตรงกับข่าวที่ครึกโครมเมื่อบ่ายวันพฤหัสฯ น่าแปลกใจหรือไม่ว่าเหตุใดจึงมีข่าวจับ “อดีตผู้กำกับโจ้” ที่ฝั่งเมียนมา และต่อมาก็มีข่าวยืนยันจากหลายแหล่ง มีการอ้างอิงแหล่งข่าวฝั่งเมียนมา และกองกำลังกะเหรี่ยง สาระของข่าวละเอียดจนยากที่จะคิดว่าเป็นข่าวเต้าขึ้นมา

ต้องเข้าใจก่อนว่า หากมีการหลบหนีข้ามแดนจริง คนที่จะเดือดร้อนคือ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และเจ้าหน้าที่ประจำด่าน เพราะ ผบ.ตร.สั่งแล้วให้คุมเข้ม แต่ยังปล่อยให้หนีออกไปได้ และหากหนีไปจริง ประเทศเพื่อนบ้านจับตัวส่ง ก็ต้องมีกระบวนการส่งตัวกลับ ใช้เวลาอีกหลายวัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะใช้วิธีการประสานงานแบบพิเศษ แล้วส่งตัวกลับ โดยไม่ผ่านช่องทางปกติ แต่ห้ามบอกว่าหลบหนีไปทางนั้น (ขณะที่ “เฮียชู” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เสนออีกทฤษฎีหนึ่งว่า “อดีตผู้กำกับโจ้” ไม่ได้หนีไปไหน แต่หลบอยู่บ้านผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯนี่เอง)

ตำรวจไม่พูดถึงเลยว่า จะหาตัวคนผิดที่ให้ที่พักพิง “อดีตผู้กำกับโจ้” ซึ่งไล่ดูจากกล้องวงจรปิดได้ และห้องพักก็สามารถหาได้ว่าไปพักกบดานที่ไหน ส่วนคนที่ขับรถมาส่ง ตำรวจรีบบอกเลยว่าไม่มีความผิด เพราะมาส่งให้มอบตัว ไม่ได้ช่วยเหลือให้ที่พักพิง

ประเด็นที่สอง เรื่องคำให้การและตอบคำถามสื่อของ “อดีตผู้กำกับโจ้” รวมทั้งผลทางกฎหมายที่จะตามมา มีข้อสังเกตดังนี้

1.การมอบตัว และยอมรับสารภาพผิดเพียงคนเดียว ไม่ซัดทอดใครเลย น่าจะมีการแลกต่อรองแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ เช่น ตัดตอนที่ตนเอง ไม่ให้สาวลึกไปถึง “ใครที่อยู่เหนือตน” เพราะระบบตำรวจ เป็นระบบอุปถัมภ์ และเป็น “ระบบกินแบ่ง-ส่งนาย”

2.การไม่พาดพิงลูกน้อง อาจจะเพื่อต่อรองไม่ให้เปิดข้อมูลเพิ่ม หรือคายความลับอะไรที่ซุกซ่อนไว้อีกหรือไม่

3.“อดีตผู้กำกับโจ้” รู้ดีกว่าใครปล่อยคลิป เพราะได้ประกาศ “อโหสิกรรมให้” จากนั้นก็ยอมรับผิดคนเดียว

ข้อมูลที่ทีมข่าวได้มา ชัดเจนว่า “อดีตผู้กำกับโจ้” โดน “วางงาน” จากคนในโรงพักเดียวกัน เพราะไปเหยียบตาปลาคนที่อยู่มาก่อน จึงมีการแบล็กเมล์กัน แล้วเคลียร์กันไม่ลงตัว 

ขณะที่ตำแหน่ง “ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์” ก็เป็นที่หมายปองของนายตำรวจที่อยู่มาก่อน แต่กลับโดน “เสียบหัว” โดย “อดีตผู้กำกับโจ้” ทั้งๆ ที่มีอาวุโสระดับท้ายๆ ของประเทศ (ไม่ใช่แค่ของจังหวัด)

4.คำให้การผ่านสื่อในแนว “รับสารภาพ” แถมรับผิดเพียงคนเดียว ยังได้ประโยชน์อีกมุมหนึ่ง คือ ทำให้ภาพ “อดีตผู้กำกับโจ้” ดูดีขึ้น และเมื่อสารภาพ แถมมอบตัวเอง จึงมีโอกาสที่ศาลจะพิจารณาลดโทษ เมื่อคดีถึงชั้นศาล

“อดีตผู้กำกับโจ้” พยายามบอกว่าเป็นการพลั้งมือ ทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต เพราะเจตนาเพียงขู่ หรือทำร้าย ไม่ได้เจตนาทำให้ตาย หากศาลเชื้อตามนี้ “อดีตผู้กำกับโจ้” จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 คือไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายจนเสียชีวิต ระวางโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี ซึ่งแตกต่างแบบ “คนละโลก” กับข้อหาเจตนาฆ่า

การพยายามยืนยันว่า “ไม่ได้เรียกเงิน” แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจปราบยาเสพติดเพื่อคนนครสวรรค์ ก็เพื่อเลี่ยงการเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ซึ้่งก็คือ “ฆ่า” เพื่อเอาทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ ซึ่งโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต