สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ

“เอกชน” ชี้ทางรอดอยู่ร่วมโควิด “CPF” กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ เร่งวัคซีนพนักงาน 100% เจ้าสัวธนินท์ ย้ำให้พนักงานปลอดภัยกว่าทำงานที่บ้าน

การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบภาคธุรกิจทำให้ต้องปรับตัวแบบนาทีต่อนาที นับตั้งแต่พบติดเชื้อในไทยเมื่อเดือน ม.ค.2563 และระบาดต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ครึ่ง ซึ่งสถานการณ์ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูงทำให้ภาคธุรกิจต้องหาทางอยู่ร่วมโควิด-19

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกทำให้ซีพีเอฟวางแผนบริหารจัดการครอบคลุมตลาดใน 47 ประเทศ โดย นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กำหนดนโยบายการบริหารในช่วงการระบาดจะต้องทำให้พนักงานในฐานการผลิตทั่วโลกรู้สึกมีความปลอดภัยในการทำงานที่โรงงานมากกว่าการทำงานที่บ้าน

สำหรับการดูแลด้านสาธารณสุขจะมีการประสานงานกับภาครัฐของแต่ละประเทศและดำเนินการตามที่ทางการกำหนดในการดูแลพนักงานของซีพีเอฟ รวมทั้งดูแลคนไทยที่อยู่ในประเทศนั้นด้วย

ในขณะที่การดูแลด้านสาธารณสุขของฐานการผลิตในประเทศไทยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในขณะนี้ได้ 90% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และจะเร่งฉีดให้ครบ 100% โดยมีการสั่งซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มา 35,000 โดส และกำลังจะซื้อเพิ่มอีก 9,000 โดส เพื่อฉีดให้พนักงาน และหลังจากนี้จะเริ่มฉีดเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ซึ่งได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากหลายโรงพยาบาล และคาดว่าดำเนินการได้ในเดือน พ.ย.นี้

ส่วนการจัดการภายในโรงงานได้นำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล มาใช้หลายแห่ง เช่น นครราชสีมา สระบุรี พร้อมกับสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อทั้งระดับสีเขียว สีเหลืองและสีแดง และวางระบบเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลเมื่อมีผู้ป่วยระดับสีแดง

163023640066

ทั้งนี้ โรงงานของซีพีเอฟในประเทศไทยมีประมาณ 80 แห่ง จะมีระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยโรงงานที่มีพนักงานมากจะอยู่ในกลุ่มโรงงานชำแหละไก่ สุกรและกุ้ง ที่มีอยู่ 6-7 แห่ง จะมีมาตรารบับเบิลแอนด์ซีลทุกแห่ง โดยจัดแพ็คเก็จเพื่อจูงใจพนักงานเพื่ออยู่ในระบบบับเบิ้ลแอนด์ซีล คือ เพิ่มรายได้ให้เดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งมีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาทำงานกับซีพีเอฟ

นอกจากนี้ ในการบริหารธุรกิจในแต่ละประเทศเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะใช้จุดแข็งของซีพีเอฟที่มีธุรกิจครอบคลุมใน 47 ประเทศ ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้ โดยธุรกิจในประเทศที่มีการระบาดมาจะถูกชดเชยด้วยการเร่งธุรกิจในประเทศที่มีการระบาดน้องลง ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์การระบาดในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนี้

ประเทศอินเดีย ที่มีธุรกิจอาหารสัตว์ สัตว์ปีก สัตว์น้ำและธุรกิจอาหารมีการระบาดรุนแรงในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้วแต่อาจมีความเสี่ยงการระบาดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

ประเทศจีน ที่มีธุรกิจอาหารสัตว์ สุกร สัตว์ปีก สัตว์น้ำและธุรกิจอาหาร มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น

ประเทศรัสเซีย ที่มีธุรกิจธุรกิจอาหารสัตว์ สุกร สัตว์ปีก และธุรกิจอาหารก็มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน

สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ซีพีเอฟต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจโดยมีการบริหารธุรกิจในช่วงที่มีการระบาดต้องมีการกระจายความเสี่ยงในแต่ละประเทศ ในขณะที่การขนส่งและกระจายสินค้าภายในประเทศมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ส่งสินค้าจากโรงงานเข้าศูนย์กระจายสินค้าเพื่อส่งต่อไปปลายทาง เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ห้าง แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนจากการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปที่ปลายเลย เพราะศูนย์กระจายสินค้ามีปัญหาขาดบุคลากรหรือมีการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาสินค้าขาดแคลนในระยะสั้น แต่หลังจากนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ