ทยอย 'คลายล็อก' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย

ทยอย 'คลายล็อก' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย

หลังจาก ศบค. มีมติ "คลายล็อก" ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้ ดูเหมือนว่าภาพการทยอยคลายล็อกนี้จะสะท้อนความพยายามแสดงถึงปัญหาที่ลดขนาดลง แต่ก็อาจจะไม่ช่วยกลบปัญหาโควิด-19 ที่แท้จริงในไทย ซึ่งยังไม่ถูกคลี่คลาย

การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว รวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเฉพาะการระบาดระลอกใหม่ถึงวันที่ 29 ส.ค. 2564 อยู่ที่ 1.14 ล้านคน มีผู้อยู่ระหว่างการรักษาตัว 177,702 คน โดยจำนวนผู้รักษาพยาบาลและผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมีทิศทางลดลงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การลดลงดังกล่าวไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าสถานการณ์ของประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะคลี่คลายจนทำให้ประเทศไทยสามารถคลายล็อกดาวน์ได้

คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เห็นชอบข้อเสนอการคลายล็อกพื้นที่สีแดงเข้มใน 6 กิจกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 ประกอบด้วย 1. การเปิดบริการร้านอาหาร 2. การปรับมาตรการสำหรับกิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ 3. การเปิดกิจการ กิจกรรม ประเภทร้านเสริมสวย ร้านนวดเฉพาะนวดเท้า 4. การใช้อาคารของสถานศึกษา 5. การเปิดใช้สนามกีฬา 6. การเดินทางข้ามจังหวัด 

การอนุญาตให้กิจกรรมทั้ง 6 กลุ่มเริ่มดำเนินการได้จะอยู่บนเงื่อนไขการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดภายใต้หลักการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention สำหรับสถานที่ที่มีความเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาใหม่ไม่ได้บังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องดำเนินการทันที แต่ใช้วิธีการให้สถานประกอบการใดที่มีความพร้อมให้เริ่มดำเนินการได้ทันที ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อมต้องมาประเมินอีกครั้ง

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศผลการเจรจาการนำเข้าวัคซีน โดยตามแผนที่มีการพิจารณาพบว่าในช่วง 4 เดือน สุดท้ายจะมีการทยอยนำเข้าวัคซีนหลัก ประกอบด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยมีปริมาณรับมอบตามแผนไม่น้อยกว่าเดือนละ 15 ล้านโดส ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผลการเจรจา แต่อยู่ที่สามารถดำเนินการได้ตามแผนมากน้อยเพียงใด เพราะปริมาณการฉีดวัคซีนรวมของประชากรในประเทศไทยยังห่างจากระดับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ในขณะที่การจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ยังอยู่ในวงจำกัด โดยประชาชนไม่สามารถหาซื้อได้ในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ขาดแคลนปัจจัยการควบคุมโรคทั้งวัคซีนหรืออุปกรณ์การตรวจเชื้อ และดูเหมือนว่า “ซิงเกิล คอมมานด์” ของนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาการระบาดได้

ดังนั้น ภาพการทยอยคลายล็อกจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่พยายามแสดงถึงปัญหาที่ลดขนาดลง แต่ข้อเท็จจริงปัญหาโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่ถูกคลี่คลาย