'หญิงตั้งครรภ์'อย่าชะล่าใจ ติด'โควิด19'เสียชีวิตสูงกว่าอัตราประเทศ

'หญิงตั้งครรภ์'อย่าชะล่าใจ ติด'โควิด19'เสียชีวิตสูงกว่าอัตราประเทศ

608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม และหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ควรต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แต่ใน 3 กลุ่มนี้ หญิงตั้งครรภ์ยังมีอัตราการเข้ารับวัคซีนน้อยที่สุด ทั้งที่เมื่อติดโควิดมีถึง 2 ชีวิตจะต้องเสี่ยงอันตราย

หญิงตั้งครรภ์ติดโควิดตายสูง

          ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค.2564 มีหญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2,327 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน อายุ 35 ปี ขึ้นไปติดเชื้อมากสุด โดยมารดาเสียชีวิต 53 ราย และทารกเสียชีวิต 23 ราย ทำคลอดไปแล้ว 1,129 ราย
       ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอดและคลอดก่อนกำหนดเกือบ
18% เทียบกับการคลอดก่อนกำหนดในสถานการณ์ปกติของไทยอยู่ที่ 1% ทั้งนี้ข้อมูล วันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด กว่า70%เป็นข้อจำกัดภายในระบบบริการ 21%เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการ และ 9%เป็นปัญหาจากหญิงตั้งครรภ์เอง

            พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ รพ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดประมาณ 2.5%ค่อนข้างสูง เทียบกับคนปกติที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิดไม่ถึง 1% เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้ผู้ติดเชื้ออยู่ในภาวะขาดออกซิเจน แต่บางคนอาการที่แสดงออกเหมือนว่าไม่เป็นอะไรมาก (Happy hypoxemia) เช้าเหนื่อยไม่มากแต่ตอนเย็นอาจเสียชีวิตได้

     

    

 “การเสียชีวิตในคนท้องเป็นโศกนาฏกรรม ที่อาจเสียชีวิตได้ถึง 2 คน โดยกรณีคุณแม่นั้นพบว่าส่วนหนึ่งเสียชีวิตหลังคลอดตั้งแต่1วัน-4 สัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่แม่ติดโควิดอยู่ที่ 40% โดยเฉพาะติดเชื้อตอนอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน หากติดเชื้อเมื่ออายุครรภ์มากกว่านี้ เด็กมีโอกาสรอดชีวิตจากวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ตั้งแต่อายุครรภ์24 สัปดาห์ขึ้นไป”พญ.ชัญวลีกล่าว   

         พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า การรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดนั้นต้องยอมรับว่าแม้จะรักษาตามมาตรฐานแล้ว แต่ก็จะไม่ได้ผลดีเท่าคนไม่ตั้งครรภ์ เช่น การนอนคว่ำเพื่อให้ออกซิเจนในปอดมากขึ้น ทำไม่ได้ในคนท้อง เช่นเดียวกับกรณีที่ภาคประชาชนนำเสนอปัญหาหญิงตั้งครรภ์หา รพ.ทำคลอดลำบากนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากหากรพ.ไม่พร้อมจริงๆ การรับคลอดจะทำให้บุคลากรถูกกักตัว และปิดห้องฉุกเฉิน กระทบกับผู้ป่วยคนอื่นอีก ขึ้นอยู่กับการวางระบบการดูแล ส่งต่อด้วย แต่ในพื้นที่ระบาดมากก็ทำได้ยาก เพราะมีหลายปัจจัย ส่วนต่างจังหวัดยังทำได้ดีเพราะผู้ติดเชื้อน้อย

  “ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้การป้องกันหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ติดเชื้อจึงสำคัญ โดยการให้อยู่บ้านมากที่สุด เป็นการเว้นระยะห่าง และเลี่ยงปัญหาการหายใจลำบากจากการที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย  เพราะลำพังไม่สวมหน้ากากอนามัยหญิงตั้งครรภ์ก็หายใจลำบากอยู่แล้ว รวมถึง ต้องส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด เพื่อป้องกันการติดเชื้ออาการหนัก และการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพ”พญ.ชัญวลีกล่าว

   หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนต่ำ 

     นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย  กล่าวว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ของหญิงตั้งครรภ์ยังค่อนข้างน้อย จนถึงวันที่ 19 ส.ค. 2564 ประมาณ 2 หมื่นรายแต่เป้าหมายที่มีหญิงตั้งครรภ์ปีละประมาณ 5 แสนราย เท่ากับยังไม่ถึง 10 %

      ทั้งนี้ ในระบบหมอพร้อม  ณ วันที่ 28 ส.ค. 2564 เวลา 23.13 น. ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 30,846,213 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22.905,561 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 7,311,723 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 628,623 ราย และเข็มที่ 4 จำนวน 306 ราย  ซึ่งในจำนวนฉีดวัคซีนสะสมทั้งหมดกว่า 30 ล้านโดสนั้น เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับการฉีดเพียง 4 หมื่นโดส

   วัคซีนโควิดไม่อันตราย    

         นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า กรณีสตรีตั้งครรภ์จะฉีดวัคซีนโควิด19 ต้องทำอย่างไร  อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปขอให้ไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งคำแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีหลายสูตร คือ 1. เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2. สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม 3. สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม

     ทั้งนี้กรณีจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดคือสูตรที่ 1 ซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 เพราะใช้เวลาห่างระหว่างเข็มแค่ 3 สัปดาห์ และเกิดภูมิหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 2 ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ส่วนสูตรที่ 3 ไฟเซอร์ เข้ามาไม่มาก ยังไม่เพียงพอต่อการฉีดหญิงตั้งครรภ์ที่มีกว่า 500,000 คน อีกทั้งยังต้องฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 ด้วย  สำหรับผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล

        แล้วถ้าฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วพบว่าตั้งครรภ์จะทำอย่างไร  สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ  เพียงแต่โดยปกติคนที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกจะมีอัตราการแท้งตามธรรมชาติ 10-12% จึงให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนในไตรมาสแรก เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจว่าแท้งจากวัคซีนหรือไม่ และสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ จะฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่ สามารถฉีดวัคซีนได้ หลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร  ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด และไม่มีหลักฐานว่าการฉีดจะทำให้มีลูกยาก  อย่างไรก็ตาม ขอให้หญิงตั้งครรภ์เน้นการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง .

    ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐดูแล

     นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ข้อเสนอต่อสธ. ดังนี้ 1.ขอให้กำกับดูแลรพ.ที่รับฝากครรภ์ ไม่ควรปฏิเสธการทำคลอด-รักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 หากเกินศักยภาพที่รพ.จะดูแลรักษาได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ประสานต่อ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยและครอบครัวไปหาสถานพยาบาลเอง 2. ให้เร่งฉีดวัคซีนให้หญิงครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไม่ถึง 3% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์สูงถึง 2.5% 

    3.กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เสียชีวิต หรือลูกเสียชีวิต หรือเสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก รพ.ต้องจัดให้นักสังคมสังเคราะห์ประเมิน และวิเคราะห์รายกรณี เพื่อประสานการช่วยเหลือ เยียวยาสภาพจิตใจครอบครัว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

   และ 4. สธ.ต้องเชื่อมต่อกับโรงงานต่างๆ ให้บริษัทฯ มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนงานต่อเนื่องเพื่อแยกผู้ติดเชื้อฯ ออกมารักษาตามระบบป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น สนับสนุนให้แต่ละสถานประกอบการมี Factory isolation ที่มีมาตรฐาน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อ มีระบบการประสานส่งต่อคนงานที่มีอาการเริ่มรุนแรง รวมเชื่อมโยงการทำ Home isolation ที่ถูกต้อง

    ออกข้อบังคับหญิงตั้งครรภ์ WFH 100 %

      นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้ที่คลีนิคฝากครรภ์ด้วย ซึ่งวัคซีนนั้นมีความปลอดภัยและคุ้มค่าที่จะเข้ามารับการฉีดวัคซีน ส่วนเรื่องการทำงานนั้นได้มีการทำบับเบิลแอนด์ซีล อยู่แล้ว  อีกทั้ง  กรมอนามัยได้จัดแนวทางการทำงานของหญิงตั้งครรภ์ เสนอต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) พิจารณาออกข้อบังคับให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (work from home) 100% จากเดิมที่เป็นเพียงมาตรการขอความร่วมมือเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้ทำงานที่บ้านต่อกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งก็รับเรื่องแล้วแต่ว่าจะมีการกำหนดให้มีการปฏิบัติจริงได้อย่างไร

      ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้โรคโควิด 19 เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การรักษา ปฏิเสธไม่ได้ หากเกินศักยภาพต้องดูแลประสานส่งต่อ  หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังห้ามเรียกเก็บเงินค่ารักษาด้วย จากนี้จะมีการกำชับสถานพยาบาลเรื่องนี้มากขึ้น.