รู้จัก ‘ไวน์กรีซ’ ผสานเก่ากับใหม่เกิดเป็น ‘ไวน์ที่น่าค้นหา’
“กรีซ” ทำไวน์มากว่า 6,500 ปี แต่แทบจะไม่ค่อยปรากฏต่อคอไวน์ทั่วโลกรวมทั้งในเมืองไทย หากวันนี้ “ไวน์กรีซ” พลิกโฉม ด้วยการผสานเทคโนโลยีเข้ากับกรรมวิธีผลิตไวน์แบบดั้งเดิม กลายเป็น “ไวน์ที่น่าค้นหา”
ประเทศกรีซ ผลิตไวน์ได้เป็นอันดับที่ 12 – 13 ของโลก แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ไวน์กรีซ ไม่ค่อยได้รับความนิยม จากสาเหตุ 2-3 ประการ เช่น กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม ใช้พันธุ์พื้นเมืองทำให้รสชาติไม่ค่อยประทับใจ และฉลากข้างขวดที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาประจำชาติมากกว่าภาษาสากล เป็นต้น
แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ไวน์กรีซ ได้พลิกโฉมไปมากโดยเฉพาะการใช้องุ่นพันธุ์หลักของโลกมาผลิตไวน์ เช่น กาแบร์เนต์ โซวีญยอง (Cabernet Sauvignon) แมร์โลต์ (Merlot) ปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir) ชาร์โดเนย์ (Chardonnay) มุสแคต (Muscat) และ มาลเวเซีย (Malvasia) เป็นต้น ขณะที่องุ่นพื้นเมืองหลายพันธุ์ก็ยังใช้อยู่ ทั้งที่ผลิตแบบพันธุ์เดี่ยว ๆ และผสมกับพันธุ์พื้นเมืองด้วยกันและพันธุ์คลาสสิกดังกล่าว
ประมาณปี พ.ศ.2539 - 2540 บริษัท โดคา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CODA Intrenational Co.,Ltd.) เคยนำ ไวน์กรีซ เข้ามาขายในเมืองไทยชื่อ คาวา ซานทาลิส (Cava Tsantalis) ใช้องุ่นพื้นเมือง ซีนอมาโวร (Xynomavro) กับกาแบร์เนต์ โซวีญยอง พรีเซ็นเตอร์โดย นีโน่ กับ ติ๊ก ชีโร่ 2 ดารานักร้องชื่อดัง ล่าสุดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีเห็นอยู่ในตลาด
อีกยี่ห้อหนึ่งที่มีการนำเข้ามาเมืองไทยคือ ชาโต คาร์ราส (Chateau Carras) ที่ใช้การ์แบร์เนต์ โซวีญยอง กับกาแบร์เนต์ ฟรอง ในอัตรา 50-50 % โดย จอห์น คาร์ราส (John Carras) ชาวมาซิโดเนีย เจ้าของชาโตแห่งนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางให้ ไวน์กรีซ ก้าวสู่ยุคใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960 ภายใต้ชื่อ โดเมน ปอร์โต คาร์ราส (Domaine Porto Carras) ต่อมาได้ทำไวน์ฉลาก 2 ชื่อ โดเมน คาร์ราส (Domaine Carras)
ประวัติของ ไวน์กรีซ เนื่องจากเป็นไวน์เก่าแก่ จึงแบ่งออกเป็น 3 ยุคคือ ยุคโบราณ ประมาณ 6,500 ปีที่แล้ว มีหลักฐานยืนยันว่ากรีซเป็นชาติที่ผลิตไวน์เก่าแก่เป็นอับดับ 2 ของโลก และชาวกรีกโบราณเป็นผู้ชักนำการผลิตไปยังเกาะซิซิลี ของอิตาลี ฝรั่งเศสตอนใต้ และสเปน
ยุคกลาง ช่วงศตวรรษที่ 13-16 การผลิตไวน์ของกรีซเป็นไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง กระทั่งถึง ยุคใหม่ (Modern period) ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของ ไวน์กรีซ ปี 1937 มีการก่อตั้ง สถาบันไวน์ (Wine Institute) แต่ปัญหาสงคราม ค่าครองชีพ และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ไวน์กรีซและยุโรปหลายชาติสะดุด
ไวน์ที่ถือเป็นไวน์ประจำชาติกรีซ มี 2 – 3 ชนิดคือ ไวน์ขาว เรทซีนา (Retina) ซึ่งยุโรปและทั่วโลกรู้จักกันตั้งแต่ 1960 เป็นต้นมา และ ไวน์แดงหวาน ชื่อ มาฟโรดาเน ออฟ ปาทราส (Mavrodaphne of Patras) และไวน์ ไลอ้อน ออฟ นีเมีย (Lion of Nemea) เป็นต้น
เรทซีนา เป็นไวน์ขาว (โรเซ่มีการผลิตเล็กน้อย) ซึ่งสีออกเหลืองทอง ที่ผลิตตามกรรมวิธีดั้งเดิมมากว่า 2,000 ปี ถือเป็น อมตะไวน์ของกรีซ ทุกครั้งที่ตั้งบนโต๊ะจะมีการพูดคุยถึงไวน์ตัวนี้เสมอจนเรียกว่า โมราเลีย (Moralia = Table Talk) ผลิตจากเขตยูบีอา (Euboea) อยู่ทางภาคกลางตอนใต้ของกรีซและเป็นที่ตั้งของเอเธนส์ด้วย ใช้องุ่นซาวาเตียโน (Savatiano) และโรดิติส (Rhoditis) นำไปหมักกับสมุนไพรที่มียางสน (Aleppo Pine) เป็นส่วนผสม เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไวน์ขาวตัวนี้มีรสฝาดผสมผสานกับสมุนไพร
ไวน์เรทซีนา (Retsina) ผลิตทั่วไปในกรีซ แต่แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ตำบลเมโซเยีย (Mesoyeia) ในอำเภออัตติกา (Attica), อำเภอโบโอเตีย (Boeotia) และยูบีอา (Euboea) ส่วนไวน์แดงเรียกว่า เรด เรทซีนา (Red Retsina) แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไวน์ขาว
ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union = EU) ได้ขึ้นทะเบียนพิทักษ์คำว่า "Retsina" สำหรับแหล่งผลิตของกรีซเท่านั้น ที่อื่นไม่สามารถใช้คำนี้ได้ แม้จะผลิตด้วยกระบวนการเดียวกันก็ตาม
ปัจจุบันการผลิตไวน์เรสซินาแบบดั้งเดิม ผลิตจากองุ่นเขียวพันธุ์ ซาวาเตียโน ซึ่งปลูกทั่วไปในกรีซ โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศคืออำเภออัตติกา (Attica) ใกล้กรุงเอเธนส์ และถ้าปีไหนที่แอสิดต่ำ จะใช้องุ่นเขียวอีก 2 พันธุ์ผสมลงไปด้วยคือ แอสซีร์ติโก (Assyrtiko) และโรดิติส
ไวน์มาฟโรดาพเน ออฟ เพทราส
ส่วน มาฟโรดาพเน ออฟ เพทราส (Mavrodaphne of Patras) เป็นไวน์แดงรสหวาน ผลิตจากเขตอชาเอีย (Achaia) ทางเหนือของเพโลพอนเนส (Peloponnese) ทำจากองุ่น Mavrodaphne ที่สุกสุด ๆ จนเกือบเน่า (Super-Ripe) และต้องบ่มในถังโอ๊คถึง 6 ปี แอลกอฮอล์ประมาณ 15 % ต่ำกว่าพอร์ต (Port) ของโปรตุเกส ดังนั้นคนกรีซจึงดื่มหลากหลายรูปแบบ เช่น ดื่มเรียกน้ำย่อย จับคู่กับของหวาน ชีส และดื่มหลังอาหาร นอกจากหวาน หอม แล้วยังมีผลไม้สุก และสมุนไพรหลายอย่าง
ขณะที่ไวน์ ไลอ้อน ออฟ นีเมีย (Lion of Nemea) ซึ่งรู้จักกันในนาม บลัด ออฟ เฮอร์คิวลีส (Blood of Hercules) หรือ เลือดของเฮอร์คิวลีส ฉลากเป็นรูปเฮอร์คิวลีสหักคอสิงโตแห่งนีเมีย (Nemea) ซึ่งเป็นเขตผลิตไวน์สำคัญทางใต้ของกรีซ ไวน์ตัวนี้มีประวัติว่าขณะที่ต่อสู้กับสิงโตนั้นเลือดของเฮอร์คิวลีสกระเซ็นออกมาสีเข้มข้น ผู้ผลิตไวน์ก็เลยตั้งชื่อตามนั้น ผลิตมากว่า 2,500 ปีจากองุ่น อากริออร์จีติโก (Agiorgitiko) ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง น้ำไวน์สีเข้ม และมีกลิ่นเฮิร์บค่อนข้างสูง
ระบบการควบคุมไวน์กรีซยุคใหม่ เกิดขึ้นเพื่อดูแลคุณภาพไวน์ของกรีซ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค แบ่งได้ 2 ระดับคือ
1. Appellations of Origin of Superior Quality เขตควบคุมไวน์คุณภาพสูงสุด
2. Controlled Appellations of Origin เขตควบคุมไวน์คุณภาพมาตรฐาน
ปัจจุบันกรีซผลิตไวน์จากองุ่นหลายพันธุ์องุ่น ทั้งองุ่นพื้นเมือง และองุ่นพันธุ์คลาสสิกของยุโรป ที่สำคัญเช่น
องุ่นแดงที่สำคัญคือ อากริออร์จีติโก (Agiorghitiko หรือ Aghiorghitiko, Mavro Nemeas และ St.George's) เป็นองุ่นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 2 ในกรีซ โดยปลูกแพร่หลายในเขตของคาบสมุทร Peloponnese ทางตอนใต้ของกรีซ ทำไวน์หลายสไตล์ตั้งแต่ไวน์รสนุ่มนวล โรเซ่แบบฟรุตตี้ จนถึงไวน์แดงฟูลบอดี้ โดย Agiorgitiko คุณภาพดีเยี่ยมจะมาจากพื้นที่อากาศเย็น เช่น Koutsi และ Asprokambos Valley ใน Nemea
Agiorgitiko เป็น1 ใน 2 พันธุ์องุ่นที่กรีซผลิตส่งออกตลาดต่างประเทศ (อีกพันธุ์หนึ่งคือ Xynomavro) ที่สำคัญไวน์ที่ผลิตจากองุ่น Agiorghitiko เท่านั้นที่อนุญาตให้ระบุ AOC Nemea ซึ่งเป็นเขตผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของกรีซ อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร Peloponnese
ส่วนองุ่นเขียวที่สำคัญคือ แอสซีร์ติโก (Assyrtiko) เป็นองุ่นเขียวที่สำคัญที่สุดของกรีซ และเกาะซานโตรินี และเป็นองุ่นเอนกประสงค์ทำไวน์ดรายหรือหวานก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้จะสุกเต็มที่ แต่แอสิดยังค่อนข้างสูง ลักษณะคล้ายกับ รีสลิ่ง (Riesling) เป็นองุ่นโบราณ บางแห่งต้นองุ่นมาอายุกว่า 70 -80 ปี เนื่องจากเป็นองุ่นที่รอดพ้นจากการกัดกินของฟีลล็อกซีรา ดังนั้นต้นที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นต้นจริงไม่ได้ติดต่อตาเหมือนพันธุ์อื่น ๆ
ไวน์กรีซ ณ วันนี้เป็นการผสมผสานเสน่ห์ของความดั้งเดิม กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว และน่าค้นหาอย่างยิ่ง !
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการนำเสนอความรู้เพื่อการศึกษา มิได้มีเจตนาการชักชวนให้ดื่ม แต่ถ้าจะดื่มขอให้ดื่มด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม !