'กรมอนามัย' เผย 'หญิงตั้งครรภ์' กทม. ติดโควิดสะสมสูง 488 ราย

'กรมอนามัย' เผย 'หญิงตั้งครรภ์' กทม. ติดโควิดสะสมสูง 488 ราย

'กรมอนามัย' ห่วงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ช่วงโควิดระบาด เฉพาะในพื้นที่กทม. พบติดเชื้อสะสมสูง 488 ราย แนะหากมีความเสี่ยงสูงให้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วย ATK พร้อมสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนในหญิงท้องทุกคน และงดออกจากบ้าน เน้นทำงานที่บ้านแทน

วันนี้ (28 ส.ค. 64) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 2,491 ราย แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 1,700 ราย ต่างชาติจำนวน 791 ราย มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตสะสม จำนวน 58 ราย ทารกเสียชีวิตสะสมจำนวน 24 ราย

โดยจังหวัดที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 ราย จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 399 ราย และจังหวัดปทุมธานี 101 ราย ตามลำดับ ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ทารกมีโอกาสเข้ารักษาไอซียู 4.9 เท่า และมีโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อด้วยร้อยละ 3-5

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อ โควิด- 19 และ มีความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาตัว จึงควรยกระดับการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วย ATK เมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หลังตรวจแล้วหากพบผลตรวจเป็นบวก ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งแบบ RT-PCR และถ้าพบการติดเชื้อแต่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ให้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ แต่ในระหว่างอยู่ที่บ้านถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เหนื่อย หอบ มีไข้สูง ต้องเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลต่อไป


“ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ทีคลินิกฝากครรภ์ในสถานบริการใกล้บ้าน ซึ่งล่าสุดมีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมเข็มที่ 1 แล้ว จำนวน 30,441 และเข็มที่ 2 จำนวน 2,372 ราย 

อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องขณะนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงให้เน้น ทำงานที่บ้าน ( Work From Home) และเข้มงวดการปฏิบัติตัวตามมาตรการของ กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

"ในกรณีที่บ้านมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน ควรสวมหน้ากากขณะ อยู่ร่วมกัน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ เว้นระยะห่างระหว่างกัน กินอาหารปรุงสุก เลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ก็จะช่วยลดการติดและแพร่เชื้อได้ สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน และหลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการฉีด จะทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว