วว.นำเสนอผลงานเด่น 58 ปี พัฒนา 'เศรษฐกิจประเทศ'

วว.นำเสนอผลงานเด่น 58 ปี พัฒนา 'เศรษฐกิจประเทศ'

วว.ขนทัพนำเสนอผลงานเด่น 58 ปี พัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ในการเสวนา “ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด” ผ่านการให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์และฟื้นฟูเสริมแกร่งประชาชน ผู้ประกอบการท่ามกลางวิกฤติโควิด

ศ. (วิจัย) ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.  ได้นำเสนอผลงานเด่นองค์กรตั้งแต่การริเริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2506 ซึ่งรัฐบาลวางกรอบแนวทางบริหารจัดการองค์กรไว้อย่างชัดเจน  และมีความทันสมัยของบริบทองค์กรจวบจนปัจจุบันในการจัดตั้งว่า เพื่อนำผลงานวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาการพัฒนาประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านต่างๆ รวมทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และสาธารณสุข  ให้บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อันเกิดจากการทดลองภายในประเทศเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ซึ่งกีดขวางการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ  มีผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรมและมีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหหรมจวบปัจจุบัน อาทิ

"วว. บุกเบิกการวิจัย เห็ดหอม เห็ดเข็มทองเป็นแห่งแรกของไทย และนำมาสู่การวิจัยเห็ดเมืองหนาวชนิดอื่นๆ ทำให้คนไทยได้รับประทานเห็ดเมืองหนาวในราคาถูกสร้างงานมั่นคงให้เกษตรกร งานวิจัยผลิตกะทิสำเร็จรูปชนิดเข้มข้นบรรจุกระป๋องซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์กะทิกล่องสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน การวิจัยแท่งเชื้อเพลิงอัดแข็งซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาด้าน BCG"

การจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังแห่งแรกของประเทศ ที่มีกำลังการผลิตเอทานอลไร้น้ำ 1,500 ลิตรต่อวันและเป็นต้นแบบของโรงงานฯ ด้านนี้นำไปสู่โมเดลการก่อสร้างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดต่างๆในปัจจุบัน งานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุผลผลิตการเกษตร  เช่น  การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับลำไยสด/ลิ้นจี่เพื่อการส่งออก  การยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดโดยใช้สารยับยั้งเอทธิลีน   การพัฒนาสารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงและมังคุด  เป็นต้น

ผู้ว่าการ  วว. นำเสนอว่า ตลอดระยะเวลา 58 ปี  วว.  มุ่งมั่นกับบทบาท “หุ้นส่วนแห่งความสำเร็จและดำเนินภารกิจการวิจัยและพัฒนา ด้าน วทน.  เพื่อสร้างคุณค่าให้กับภูมิปัญญาของนักวิจัยไทย และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม  อีกทั้งเร่งรัดงานให้บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์มูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่  สามารถตอบโจทย์ประเทศเป็นรูปธรรม  อาทิ  การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ  

การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น    การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง  เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย  การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี  การพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่

"การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้  รวมทั้งการที่ วว. เป็น  Total  Solution  ให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ   เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในยุคดิจิทัล  พร้อมทั้งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่ง วว. ประสบผลสำเร็จในการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 รายการต่อปี   มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 10,000 ราย  สามารถช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50%"  

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 วว.นำเทคโนโลยีพร้อมใช้ผลงานวิจัยพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้  ให้แก่สังคม  เพื่อช่วยแก้ปัญหา  สร้างโอกาส  ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์ฯ ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตเจลแอลกอฮอล์และหลักสูตรการผลิตเจลล้างมือที่ประชาชนสามารถผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน หรือนำไปเป็นอาชีพเสริมได้

การบริการทดสอบและปรับปรุงระบบห้องความดันลบ การบริการทดสอบหน้ากาก การบริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตามแนวทางมาตรฐานยาสมุนไพรไทย จัดตั้งต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า  ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน  ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา 

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล  ได้แก่  เศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว  รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีผลิตน้ำอิเล็กทรอไลต์สำหรับพ่นกำจัดเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงกำจัดไวรัส  แบคทีเรีย เชื้อรา โดยไม่มีสารตกค้าง ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ข้อแนะนำการใช้งานและการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน ASTM E 2315-16 ใช้สำหรับฉีดพ่นและเช็ดถูทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน 

ศ. (วิจัย) ชุติมา นำเสนอในช่วงท้ายว่า วว. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์และฟื้นฟูเสริมแกร่งประชาชน ผู้ประกอบการ   ดังนี้   ทบทวนและปรับทิศทางงานวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก   มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุและผู้ที่รักและใส่ใจสุขภาพที่จะมีมากขึ้น  มุ่งเน้นงานวิจัยส่งเสริมนวัตอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  

และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปช่วยเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการ  ลดต้นทุนการผลิต  เพิ่มการแข่งขัน   สนับสนุนนโยบายกระทรวง อว. ใน โครงการมหาวิทยาลัยตำบลสู่รากแก้วสร้างประเทศ  (U2T ) เพื่อร่วมสร้างอนาคตให้กับ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชน 60,000 คน ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดออนไลน์   

โดยร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด   มุ่งศึกษา วิจัย พัฒนาบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรม เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าทุกรูปแบบผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย  ให้แข็งแรง ทนทาน ได้มาตรฐาน ป้องกันความเสียหาย พร้อมรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันและอนาคตให้หลากหลายยิ่งขึ้น  พร้อมเสริมแกร่ง  เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย / ขนส่งสินค้า ให้ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชน SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19  อย่างเข้มแข็ง ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม