ญี่ปุ่นเสนออาเซียนร่วมทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 'หลังโควิด'

ญี่ปุ่นเสนออาเซียนร่วมทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 'หลังโควิด'

"กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ" เผยญี่ปุ่นเสนออาเซียนนำนวัตกรรมและแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม ชนบท และเขตเมือง หวังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เตรียมเสนอรัฐมนตรีหารือกันต่อ ก.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า อาเซียนและญี่ปุ่นได้ติดตามความคืบหน้าและหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น การยกระดับแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อเสนอของญี่ปุ่นเรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายหลังโควิด-19

ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้เสนอให้อาเซียนร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำนวัตกรรมและแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนมาช่วยยกระดับการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม การพัฒนาเขตชนบท และการพัฒนาเขตเมือง เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤตโควิค-19 ได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือระดับรัฐมนตรีในเดือนหน้า

 

ส่วนความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการจัดทำโครงการในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมด 92 โครงการ เป็นโครงการที่ทำกับภาคธุรกิจไทย 22 โครงการ หรือ 24% และโครงการความร่วมมือของธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งหมด 40 โครงการ เป็นโครงการทำกับไทยจำนวน 9 โครงการ หรือ 22.5 %เพื่อช่วยผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งญี่ปุ่นได้มีข้อเสนอใหม่ เพื่อช่วยปรับปรุงและยกระดับแผนปฏิบัติการปัจจุบันให้มีประโยชน์มากขึ้น และยังสอดคล้องกันกับแผนการใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือด้วย

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ยังมีข่าวดีเรื่องการให้สัตยาบันต่อพิธีสารการขยายความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ให้ครอบคลุมเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน จากเดิมเป็นเพียงการเปิดตลาดการค้าสินค้า โดยอินโดนีเซียแจ้งว่าได้ดำเนินกระบวนการภายในใกล้เสร็จแล้ว และคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นในเดือนก.ย.2564 ทำให้ AJCEP ช่วยส่งเสริมการค้า การค้าบริการ การลงทุนได้สมบูรณ์ทุกประเทศ นอกจากนี้ กัมพูชายังได้แจ้งว่าจะเร่งกระบวนการภายใน เพื่อให้สามารถบังคับใช้ตารางการลดภาษี (TRS) ในระบบ HS2017 ให้ทันก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

ในปี 2563 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 204,034 ล้านดอลลาร์ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 102,422 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 101,612 ล้านดอลลาร์ ส่วนการค้าไทยกับญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 30,197 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น21.2 %โดยสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์จากกรอบความตกลง AJCEP เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เครื่องหอมหรือเครื่องสำอาง เครื่องหนังและสารฟอกหนัง