‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.76บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.76บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้ที่32.76บาทต่อดอลลาร์ กรุงไทย ชี้ระยะสั้นบาทยังแข็งค่าขึ้นจากความหวังผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่บาทก็ยังผันผวนเชิงอ่อนค่าต่อได้ หากเฟดส่งสัญญาณทยอยลดคิวอีในปีนี้ชัดเจน ดอลลาร์แข็งค่า และยังไม่มั่นใจการตรวจเชิงรุกกดยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้จริง มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.70- 32.85บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(27..) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.76 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.85 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจจะรอคอยสัญญาณการปรับลดคิวอีจากถ้อยแถลงของประธานเฟดไปก่อน ทำให้ตลาดค่าเงินมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบหรือ Sideways

ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและอาจคลี่คลายลงได้ ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นต่อเนื่องและนำไปสู่การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%)

จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ในงานประชุมวิชาการของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดได้

โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมีทั้งฝั่งที่มองว่า เฟดอาจจะเริ่มส่งสัญญาณและความชัดเจนต่อการทยอยปรับลดคิวอีมากขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ดีในขณะที่ ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่า ปัญหาการระบาดของ Delta อาจกดดันให้เฟดชะลอการส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีเนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ซึ่งเฟดใช้ติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 4.2% หนุนโดยการบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับธีมการเปิดประเทศ อาทิ การท่องเที่ยว การบริโภคอาหารนอกบ้าน เป็นต้น

ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดโดยรวมอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอถ้อยแถลงของประธานเฟดในการประชุมวิชาการเฟดJackson Hole ซึ่งตลาดต่างรอจับตาว่า ประธานเฟดอาจจะมีการส่งสัญญาณหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีหรือไม่ ทั้งนี้ ในงานประชุมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าเฟดจำนวน 3 ท่าน (Robert Kaplan, James Bullard และ Esther George) ได้ออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีที่เร็วขึ้นในปีนี้

ภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด ได้สะท้อนผ่านการขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างย่อตัวลง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดในแดนลบ -0.58% ส่วนทางด้านดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -0.64% ตามการปรับตัวลดลงของหุ้นเทคฯ เนื่องจากตลาดกังวลว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจพลิกกลับมาเป็นเทรนด์ขาขึ้นได้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี อาจกดดันการประเมินมูลค่าของหุ้นเทคฯ และทำให้หุ้นเทคฯ ดูแพงขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป บรรยากาศการลงทุนก็กลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้นเช่นกัน โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลง -0.27% กดดันโดยหุ้นเทคฯ อย่าง Adyen -2.1% รวมถึง หุ้นกลุ่มการเงิน Santander -1.4%, Intesa Sanpaolo -1.1%, BNP Paribas -0.9%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยสัญญาณการปรับมาตรการคิวอีของเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1.34%- 1.37% โดยหากในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี ก็อาจกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้บ้าง ขณะที่ ถ้อยแถลงที่แสดงถึงความมั่นใจในแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี ก็อาจหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตางานประชุมวิชาการของเฟด Jackson Hole ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ93.06 จุด กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.175 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น(JPY) ก็อ่อนค่าลงมาใกล้ระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์