คลายล็อก อยู่ร่วม ‘โควิด’

คลายล็อก อยู่ร่วม ‘โควิด’

รัฐส่งสัญญาณคลายล็อก หรือผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ หลังยอดติดเชื้อโควิด-19 รายวันเริ่มลดลงเหลือต่ำกว่า 20,000 คน

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์นี้จะเริ่มลดลงต่ำกว่า 20,000 คน หลายคนเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะผ่านจุดพีคไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะไม่มีอะไรที่รับประกันได้ว่า จะไม่เกิดเซอร์ไพรส์ มีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก หรือเมื่อเราได้ตรวจเชิงรุกกันจริงจังเข้มข้นในทุกตารางนิ้วของประเทศแล้ว อาจมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างที่คาดไม่ถึง อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาทางรับมือเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ให้เดินควบคู่ไปกับการ “คลายล็อก” ของประเทศ และแผนเปิดประเทศใน 120 วันที่วันนี้ยังต้องบอกว่า “ยากมาก” 

ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ผ่อนปรนร้านอาหารให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ รวมทั้งลดระยะเวลาเคอร์ฟิว หรือห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล 1 ชั่วโมง การผ่อนปรนร้านอาหารให้นั่งรับประทานในร้านได้จะมี 2 ส่วน คือ ร้านอาหารที่เปิดเครื่องปรับอากาศ อนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านได้คิดเป็น 50% ของจำนวนที่นั่งในร้าน ส่วนร้านอาหารที่ไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งได้ 75% ของจำนวนที่นั่งในร้าน

ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวด เช่น พนักงานสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามตะโกนสั่งอาหาร ห้ามรวมกลุ่ม ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมไปถึงอาจต้องแสดงการฉีดวัคซีนด้วย

ส่วนการลดเวลาเคอร์ฟิวนั้น ยังห้ามประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้มออกนอกเคหสถาน แต่ศบค.ชุดเล็กหารือ และลงมติให้ ลดเวลาลงจากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเวลา 22.00 ถึง 04.00 น. จากเดิม 21.00-04.00 น. นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานประชุมวันนี้

รัฐบาลยังต้องเร่งสปีดแก้ปัญหา คุมการระบาดให้ได้อย่างเข้มข้นต่อไป ปริมาณวัคซีนในประเทศควรต้องมีเพียงพอ ทั้งสำหรับเข็ม 1 เข็ม 2 หรือ เข็ม 3 รวมไปถึงตัวยา ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคลงได้ ชุดตรวจเบื้องต้นต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ รัฐต้องเติมเต็มให้ได้ตลอด อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ที่ผ่านมาตัวเลขฉีดวัคซีนโดยภาพรวม เราทำได้ไม่เร็วพอ เส้นทางยังอีกยาวไกลมากกว่าจะเกิดความ “ไว้วางใจ” รวมไปถึงการ “เกิดภูมิคุ้มกันหมู่”

เมื่อรัฐพร้อมคลายล็อก ก็ต้องพร้อมรับมือ “ผล” ที่จะตามมาด้วย ฝั่งผู้ประกอบการเองต้องวางมาตรการให้รัดกุมเช่นกัน เราอยากเห็นการทำงานเชิงรุก แผนคุมระบาด แผนฉีดวัคซีน ที่ยังเข้มข้นและชัดเจน ประเทศต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างมีชั้นเชิง

นั่นหมายความว่า มาตรการรองรับทุกด้าน อาวุธที่จะใช้ป้องกันต่อสู้ต้องมีเพียบพร้อม เหนือสิ่งอื่นใด รัฐยังต้องเตรียมรับมือการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจในทุกกลุ่มทุกระดับทั้งระยะสั้น ระยะยาว ประเทศไทยยังมี “ปัญหาซุกอยู่ใต้พรม” อีกมากมาย ที่รัฐต้องเร่งปฏิรูปและแก้ไขแม้จะยังมีโควิดหรือไม่มีโควิดก็ตาม