‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.71 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.71 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้ที่32.71บาทต่อดอลลาร์ กรุงไทย ชี้แข็งค่าสุดในรอบ1เดือนครึ่ง รับแรงหนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้าหุ้นไทย ระวังแรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกจากการตกใจ จับตาบาทแข็งกลับไปถึง 32.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.60 - 32.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(26..)  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.71 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้ามองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทในระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและอาจคลี่คลายลงได้ ส่งผลให้ รัฐบาลอาจทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มเงินบาทที่อาจจะกลับมาแข็งค่า ยังได้หนุนให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วน กลับเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินมากขึ้น สะท้อนผ่าน แรงซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น

นอกเหนือจากปัจจัยสถานการณ์การระบาดในประเทศ ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงก็มีส่วนกดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หนุนให้ สกุลเงินในฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้นตาม ทว่า เรามองว่า แนวโน้มของเงินดอลลาร์จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังตลาดรับรู้ทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ทำให้ในช่วงการจะทราบข้อมูลดังกล่าว เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัวในกรอบ

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกที่เริ่มตกใจกับการแข็งค่าเงินบาท แต่เรามองว่า เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้ โซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อหลุดแนวรับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ากลับไปได้ถึง 32.25 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว  จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้

ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ในตลาดเพื่อรอสัญญาณการปรับลดคิวอีจากเฟด ในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole  ทั้งนี้ภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ โดยดัชนีS&P500 ปิดบวก +0.22% นอกจากนี้ แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.34% ทว่า หุ้นเทคฯ ยังคงสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ จากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.15%

ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่าบรรยากาศตลาดโดยรวมจะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรป อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนสิงหาคมที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย +0.07% โดยแรงหนุนของตลาดนั้นมาจาก หุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ยังคงปรับตัวขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ อาทิ กลุ่มการเงิน BNP Paribas +2.0%, ING +1.4%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าปรับสถานะถือครองบอนด์ เพื่อรอคอยสัญญาณการปรับมาตรการคิวอีของเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole กอปรกับ บรรยากาศตลาดการเงินที่อยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.34% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าวในระยะสั้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตามุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการปรับลดคิวอี ซึ่งรวมถึงอัตราการปรับลดวงการทำคิวอี ในงานประชุมวิชาการประจำปีของเฟด ที่ jackson Hole

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์และเดินหน้าลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ตามภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่า ในงานประชุมวิชาการของเฟด ที่ Jackson Hole นั้น เฟดอาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดคิวอี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ถูกสะท้อนมาในการปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้าของเงินดอลลาร์ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ แรงขายทำกำไรเงินดอลลาร์ ได้ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.82 จุด หนุนให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.177 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยพยุงให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อยู่ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ตาม

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ในงานประชุมวิชาการของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมีทั้งฝั่งที่มองว่า เฟดอาจจะเริ่มส่งสัญญาณและความชัดเจนต่อการทยอยปรับลดคิวอีมากขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ดีในขณะที่ ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่า ปัญหาการระบาดของ Delta อาจกดดันให้เฟดชะลอการส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีเนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น