เปิดบทบาท'เอกชนสหรัฐ'ร่วมแก้ปัญหาผู้อพยพอัฟกัน

เปิดบทบาท'เอกชนสหรัฐ'ร่วมแก้ปัญหาผู้อพยพอัฟกัน

เปิดบทบาท'เอกชนสหรัฐ'ร่วมแก้ปัญหาผู้อพยพอัฟกัน ขณะที่การอพยพย้ายถิ่นและเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่นของผู้ลี้ภัยสงครามอัฟกันครั้งนี้เป็นหนึ่งในวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุด

การอพยพคนออกจากอัฟกานิสถานของรัฐบาลสหรัฐสหรัฐที่เริ่มขึ้นหลังจากกองกำลังติดอาวุธตาลีบันเข้ายึดครองกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากภาคเอกชน โดยเฉพาะจากสายการบินชั้นนำของประเทศที่พร้อมส่งเครื่องบินโดยสารมารับผู้อพยพออกจากดินแดนนี้

สายการบินพาณิชย์ของสหรัฐทั้งสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์, แอตลาส แอร์, เดลตา แอร์ไลน์, ออมนิแอร์ ,ฮาวายเอียน แอร์ไลน์และ

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการขนส่งผู้ที่ได้รับการอพยพออกจากอัฟกานิสถานมายังฐานทัพของสหรัฐในกาตาร์, บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปยังประเทศในยุโรปและมายังสหรัฐ โดยใช้เครื่องบินโดยสารทั้งหมด 18 ลำ

นอกจากการสนับสนุนของสายการบินพาณิชย์แล้ว บริษัทเอกชนหลายแห่งในสหรัฐยังเข้ามามีบทบาทช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆที่เกิดจากการอพยพคนออกจากอัฟกานิสถานด้วย เช่นวอลมาร์ท ค้าปลีกยักษ์ใหญ่สนับสนุนเงิน 1 ล้านดอลลาร์แก่หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร 3 หน่วยงานเพื่อให้นำเงินนี้ไปใช้ในการตั้งถิ่นฐานแก่ผู้ลี้ภัยและสนับสนุนทหารผ่านศึกในช่วงที่สหรัฐต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากประเทศนี้

“เรากำลังมองหาประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมของความเป็นทหารผ่านศึกและเพื่อนๆชาวอัฟกันของเ่ราเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัย ให้บริการแก่สมาชิกและคนอื่นๆ ในฐานะเป็นผู้นำทหารผ่านศึกที่วอลมาร์ท เราแสวงหาแนวทางต่างๆเพื่อสนับสนุนความพยายามเหล่านี้ ”แดน บาร์ทเลทท์ รองประธานบริหารแผนกกิจการบริษัทของวอลมาร์ท กล่าว

บาร์ทเลทท์ กล่าวด้วยว่า บริษัทเสนอทางเลือกต่างๆให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัย พร้อมทั้งตั้งกองทุนวอลมาร์ท ฟาวน์เดชัน 1 ล้านดอลลาร์แก่หน่วยงานไม่แสงหาผลกำไร3หน่วยงานที่ทำงานสนับสนุนผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถานเข้ามาทำงานในสหรัฐ รวมทั้งสนับสนุนทหารผ่านศึกและครอบครัว

แต่วอลมาร์ท ไม่ได้เป็นเอกชนรายเดียวที่เสนอความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตในอัฟกานิสถาน แอร์บีแอนด์บี สตาร์ทอัพแบ่งปันที่พักที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ก็ประกาศเมื่อวันอังคาร(24ส.ค.)ว่าจะรับผิดชอบในการจัดหาบ้านพัก 20,000 หลังแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันในประเทศต่างๆทั่วโลก หลังจาก Airbnb.org หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรให้เงินทุนฉุกเฉินแก่คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ(ไออาร์ซี) ,HIAS และ Church World Service สำหรับผู้ลี้ภัยจำนวน 1,000 คนจากอัฟกานิสถาน

“ไบรอัน ชีสกี้” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)แอร์บีแอนด์บี กล่าวว่า “การอพยพย้ายถิ่นและเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่นของผู้ลี้ภัยสงครามอัฟกันเป็นหนึ่งในวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดและหวังว่าบรรดาผู้นำธุรกิจคนอื่นๆจะเข้ามาช่วยเหลือเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน”

ขณะที่ภาคเอกชนสหรัฐระดมกำลังสนับสนุนแผนอพยพและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอัฟกัน สถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งก็เริ่มตัดท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มตาลีบัน ล่าสุด เวิลด์แบงก์ หรือ ธนาคารโลก ประกาศระงับความช่วยเหลือทั้งหมดแก่ประเทศอัฟกานิสถาน โดยระบุว่า ธนาคารโลกมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของสตรี

“เราระงับภารกิจการจัดสรรเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน ขณะเดียวกันเรากำลังจับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเราวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ รวมทั้งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อสตรี” เจ้าหน้าที่ธนาคารโลก กล่าว

บนหน้าเว็บไซต์ของธนาคารโลก ระบุว่า ธนาคารโลกมีโครงการพัฒนาที่กำลังดำเนินการอยู่ในอัฟกานิสถานมากกว่า 20 โครงการ และได้จัดสรรเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน 5,300 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2545 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า

ในส่วนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ประกาศระงับความช่วยเหลือแก่อัฟกานิสถานเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการระงับโครงการเงินกู้วงเงิน 370 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเงิน 340 ล้านดอลลาร์ที่อัฟกานิสถานมีกำหนดได้รับจากกองทุนสิทธิพิเศษถอนเงิน (เอสดีอาร์) ของไอเอ็มเอฟในวันจันทร์ที่ผ่านมา (23ส.ค.)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐได้อายัดทรัพย์สินเกือบ 9,500 ล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน (ดีเอบี) เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มตาลีบันเข้าถึงแหล่งเงินเหล่านี้ โดยดีเอบี มีทรัพย์สินราว 9,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินเหล่านี้ฝากอยู่ในบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก และสถาบันการเงินอีกหลายแห่งในสหรัฐ

การประกาศตัดความช่วยเหลือของธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่กองกำลังทหารสหรัฐใกล้จะเสร็จสิ้นการถอนกำลังทหารตามกำหนดการในวันที่ 31 ส.ค.นี้

ส่วนบรรยากาศทางธุรกิจโดยทั่วไปในกรุงคาบูลหลังการยึดครองของตาลีบันดำเนินไปอย่างเงียบเหงา บรรดาเจ้าของร้านค้าขนาดเล็กไม่มั่นใจว่าอนาคตธุรกิจจะเป็นอย่างไรในเมื่อมีชาวอัฟกันจำนวนมากตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่ยังมีโอกาส

ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการ ตู้เอทีเอ็มเกือบทุกแห่งในเมืองหลวงไม่มีเงินสดสำรองให้กด และหน่วยงานของรัฐบาลส่วนใหญ่ปิดให้บริการ เช่นเดียวกับสำนักงานให้บริการวีซ่าและหนังสือเดินทาง ขณะเดียวกันก็ไม่มีการจัดงานแต่งงานหรืองานรื่นเริงต่างๆด้วยเช่นกัน