ต้นหูกวาง ผิดตรงไหน ทำไมไม่มีสิทธิอยู่คู่หาด พัทยา

ต้นหูกวาง ผิดตรงไหน ทำไมไม่มีสิทธิอยู่คู่หาด พัทยา

การระดมความคิด หาทางออก และความน่าจะเป็นของนักภูมิสถาปัตย์ในการจัดการกับชายหาด “พัทยา” ที่รัฐกำลังย้าย “ต้นหูกวาง” ออกไป แล้วเอา “ต้นปาล์ม”มาปลูกแทน

การปรับปรุงภูมิทัศน์ในหลายพื้นที่หลายจังหวัด ส่วนใหญ่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม นำมาซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง ล่าสุด ที่หาดพัทยามีการปรับปรุงพื้นที่ชายหาด ด้วยการเอาต้นหูกวางที่อยู่ดั้งเดิมออกไป แล้วมีแผนว่า จะเอาต้นปาล์มมาปลูกแทน

เหล่านักวิชาการภูมิสถาปัตย์ จึงระดมสมองมองปัญหาและหาทางแก้ไขในหัวข้อ ‘จัดระเบียบหาดพัทยา จะตัดต้นไม้...เพื่อ?’ ผ่านทางเฟซบุ๊ค Big Trees เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

เริ่มจาก ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายต้นไม้ในเมือง มองว่า กรณีแบบนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเมืองไทย เพราะไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการมองและการพัฒนาเมือง

"เวลาจะพัฒนาอะไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มักจะมีคอนเซปท์ที่ผู้บริหารยึดโยงไว้ด้วยเจตนาดี แต่ประชาชนไม่ได้คิดอย่างนั้น นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนที่ผู้บริหารจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการมองและพัฒนา

 

สังคมต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องการ ต้นไม้ใหญ่ การพัฒนาเมืองไม่ใช่การทำลายของเดิมทิ้ง แล้วสร้างใหม่ แต่คือการพัฒนาต่อยอดของเดิม หานวัตกรรม เทคโนโลยี วิธีการให้เติบโตไปกับสิ่งใหม่ๆ ได้

เราไม่เข้าใจวิธีทำให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับถนน เราไม่เข้าใจระบบรากของต้นไม้ การตัดทิ้งแล้วเอาต้นใหม่มาปลูกเป็นแฟชั่นของคนไทยเวลาพัฒนาพื้นที่ เราต้องทำความเข้าใจต้นไม้ด้วยศาสตร์รุกขกรรม ทำไมต้องเอาต้นไม้พื้นถิ่นออก แล้วมีแต่ต้นไม้แบบตะวันตกเต็มไปหมด มันไม่น่าจะเหมาะกับประเทศไทย" 

162980282828 ชายหาดพัทยาในความทรงจำของนักท่องเที่ยว Cr.BIG Trees

  • ต้องพัฒนาแบบยั่งยืน

ในเรื่องนี้ ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งเพจ City Cracker มีความคิดเห็นว่า ลักษณะงานที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

"การสร้าง TOR นำมาสู่การจัดจ้างผู้ออกแบบแล้วดำเนินโครงการ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วย ไม่ว่า ภูมิสถาปนิก, รุกขกร, ผู้เชี่ยวชาญทางระบบนิเวศ, ทางสังคมศาสตร์ การมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พัฒนาออกมาได้ตรงกับที่สังคมต้องการ 

โครงการรัฐส่วนใหญ่มีเงินสร้าง แต่ต่อมาก็ทรุดโทรม ทิ้งร้าง นำมาสู่งบประมาณการบำรุงรักษาดูแล นั่นไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องตอบโจทย์คน, สิ่งแวดล้อม, วิถีชีวิต และบริหารพื้นที่ร่วมกัน ถ้าไม่มีกระบวนการที่ถูกต้อง แสดงว่าโจทย์ผิดตั้งแต่แรก การเอาต้นไม้ดั้งเดิมออก ต้องถามคนในพื้นที่ก่อน เพราะหาดพัทยา คนมีภาพจำว่า มีเงาร่มรื่นของต้นหูกวาง"

  • เสน่ห์ของต้นไม้ในพื้นที่

ทางด้าน อาจารย์วรงค์ วงศ์ลังกา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษา สมาคมรุกขกรรมไทย มองว่า เรามักเห็นปัญหาลักษณะนี้ตอนปลายเหตุ

"ต้นไม้เขตร้อนไม่ตายง่าย แต่ก็มีเส้นบางๆ ถ้าเราข้ามเส้นนั้นไป สุขภาพต้นไม้จะทรุดโทรม มีหลายโครงการพยายามอยู่ร่วมกับต้นไม้เดิม เช่น การขยายถนนในหลาย ๆ เส้น พยายามไม่ตัดทิ้ง แต่กลับถมบดอัดรอบต้นไม้ใหญ่ นั่นไม่ใช่การอนุรักษ์ที่เหมาะสม ต้นไม้ก็ถดถอยลดมวลขนาดต้นไม้ลง เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ จนกลายเป็นต้นไม้แกรนๆ

วิธีการคือ 1)เราต้องหาความเหมาะสมระหว่างพื้นที่ใหม่ที่จะใส่เข้าไป ให้มีพื้นดาดแข็ง ถูกบดอัดได้ระดับหนึ่ง แล้วต้นไม้ยังอยู่ในสภาพเดิมได้

2)มีเทคโนโลยีจัดการต้นไม้แบบใหม่ๆ มากมาย ทั้งการขุดล้อม, การค้ำยันใหม่, การใส่ท่อเติมอากาศ แต่วิธีการของบ้านเรายังคงเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

3)สำนึกแห่งสิทธิที่ Sense of Place ต้นไม้เก่า ทำให้เรารับรู้ได้ว่า มันเคยเป็นของเรา  เคยเห็นมันอยู่ในรูปที่ยายกับตาจีบกัน มันเป็นต้นไม้ที่พ่อขับรถไปจอด เป็นที่ๆ เราเคยมาตอนเด็กๆ การนึกถึงอดีตทำให้เรามีความสุข แล้วถ้ามีบุคคลอยู่กับต้นไม้ด้วย มันเป็นอดีตที่มีความหมาย

4)ต้นไม้ที่อยู่มานาน แสดงว่ามันปรับตัวได้ดี ต้นหูกวางไม่ใช่ต้นไม้พื้นถิ่น เกิดริมทะเลทั่วไป ถูกนำมาปลูกอย่างจงใจสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อร้อยปีที่แล้ว ระบบนิเวศที่แท้จริงของหูกวางคือ ชายหาด เพราะเป็นพืชทนเค็ม

5)มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ต้นหูกวาง เราเห็นมันที่โรงเรียน, โรงพยาบาล,ในอำเภอ และชายหาดพัทยา แต่ตอนนี้เรามีปาล์มอยู่ทั่วประเทศ เราอยู่ในเขตร้อน แต่ละพื้นที่มีต้นไม้พื้นถิ่นที่มีความหลากหลายมากมาย ไม่เหมือนเขตหนาวที่มีพืชพันธุ์จำกัด"

162980289911 ต้นหูกวางถูกโค่นที่ชายหาดพัทยา Cr.BIG Trees

  • การเป็นตัวเองคือเสน่ห์

ส่วน ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิก ประเทศไทย มีความคิดเห็นว่า แต่ละสถานที่มีเสน่ห์ในตัวเอง และนั่นคือสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา

"ความงามที่แท้ไม่ใช่อยู่ที่การก๊อป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย อยากเห็นอะไรที่ไม่เหมือนที่อื่น ไม่ได้อยากเห็นพัทยาเหมือนไมอามี บางชายหาดในต่างประเทศ เขาจะเก็บสันทรายต่าง ๆ ไว้เพื่อป้องกันสึนามิ แล้วทุกคนก็ยอมเดินไกลขึ้นข้ามสันทรายเพื่อมาดูเพนกวินเดินกลับบ้านผ่านชายหาดนี้ทุกวัน

ขณะที่ ชายหาดพัทยากับบางแสนถูกปรับเปลี่ยนไปเยอะ มีถนนเลียบชายหาด สันทรายทั้งหมดโดนไถทิ้ง อย่างปารีส นิวยอร์ค ก็มีเอกลักษณ์ของมัน กรุงเทพก็มีเสน่ห์มาก ๆ มีสิ่งที่สืบทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบัน เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาที่มีขอบน้ำยึกยัก เราก็เก็บมันไว้

ในเรื่องของ Sense of Place ต้นไม้เก่า, ตึกเก่า, เมืองเก่าในโซนอนุรักษ์ แล้วโซนใหม่ด้านนอก ใหม่เก่าอยู่ด้วยกันได้ การเก็บตึกเก่าไว้ ทำให้คนที่มารู้สึกว่าเมืองนี้มันเจ๋ง เมืองไหนที่มีต้นไม้เก่าแก่ มันมีคุณค่า อย่างต้นหูกวางของเรา ถ้าเก็บไปอีก 10-20 ปี ทุกคนก็รู้ว่าชายหาดนี้เก่าแก่ หาที่ไหนไม่ได้ ฝรั่งชอบ เพราะบ้านเขาไม่มีต้นหูกวาง ไม่มีต้นมะพร้าว

ต้นปาล์มอาจจะซื้อมาแพง หายาก ดูเป็นสัญลักษณ์ของความพิเศษ ซึ่งจริงๆ แล้วฉาบฉวย ไม่มีความเป็นไม้พื้นถิ่น ถ้าเราจะตัดสินความสวยงาม จากรูปทรงรูปร่างมันกินกันไม่ขาดหรอก แต่ถ้าจะบอกว่า แบบไหนที่มันดีงาม ต้องมองทั้ง 3 ระดับคือ ตามอง, สมองคิด, จิตและใจ"

162980296489 แบบร่างชายหาดพัทยาในอนาคต 

  • ทางออกของปัญหา

ยศพล ให้แง่คิดว่า งบประมาณ 166 ล้านบาท คือเงินภาษีของประชาชน ทำไมเราถึงไม่สามารถให้ความเห็นในทุกขั้นตอนอย่างที่ควรจะเป็น ทำไมเราไม่มีสิทธิเลือก เวลาที่รัฐจะพัฒนาอะไรในบ้านของเราเอง กรณีชายหาดพัทยา รัฐบอกว่ารับฟังเสียงประชาชน แต่โดยเนื้อในได้รับฟังอย่างทั่วถึงไหม

"ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของเงิน เราควรมีบทบาท รัฐได้เรียนรู้ไปกับสังคมไหม เพื่อที่สุดท้ายแล้ว เราจะได้ไม่ต้องมาบอกว่า สิ่งไหนควรสิ่งไหนไม่ควร สังคมในปัจจุบันควรมีความเท่าเทียมในการสื่อสารสองทาง เราอยากเห็นมิติการพัฒนาร่วมแบบนี้ในอนาคต ที่ไม่ใช่รัฐไปทำอะไรก็ไม่รู้ ใช้นักออกแบบที่ไหนก็ไม่รู้ สุดท้ายเราถึงต้องมาแก้ปัญหาแบบนี้ ทั้งที่มันเป็นทรัพยากรของเราเอง

เราต้องมีกฎกติกาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้ไม่มีกฎหมายกฎกติกาอะไรเลยกับการจัดการต้นไม้ในเมือง

เคยไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ เวลาเขาจะจัดการพื้นที่ที่ไหน เขาไม่ได้ส่งสถาปนิกเข้าไป แต่ส่งภูมิสถาปัตย์กับรุกขกรเข้าไป เพื่อดูว่าจะเก็บต้นไหนไว้บ้าง แล้ว 1)ต้นไม้ใหญ่ในสิงคโปร์ทุกต้นจะถูกลงทะเบียน 2)ถ้าใครตัดต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีบทลงโทษจากภาครัฐที่ดูแลพื้นที่สีเขียว 3)แบบก่อสร้างทุกพื้นที่จะต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐก่อน

กฎหมายของเขามีส่วนอย่างมากที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ, ภูมิสถาปัตย์, รุกขกร เข้ามาช่วย เพราะถ้าคุณจัดการไม่ดี ต้นไม้อาจจะล้มได้ หรือโครงการอาจมีปัญหาได้ เพราะเขาเห็นว่าสิ่งนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนจริงๆ ต้นไม้ไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่คือองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ นี่คือการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน"