เปิดเหตุผล “กมธ.แก้รธน.” ยอมถอย 5 มาตรา รักษาดุล - คุมเกมการเมือง

เปิดเหตุผล “กมธ.แก้รธน.” ยอมถอย 5 มาตรา รักษาดุล - คุมเกมการเมือง

9 มาตราที่กมธ.แก้รัฐธรรมนูญเสนอเข้าสู่รัฐสภา ล่าสุด ถูกปรับแก้ ให้เหลือเพียง 4 มาตรา หลังถูกท้วงติงเนื้อหาและสุ่มเสี่ยงที่ต้องตีความที่นำเนื้อหาไปสู่การออกเสียงประชามติ การยอมเสียหน้า ครั้งนี้ ผลที่ได้ คือ การรุกฆาต ทางการเมือง

       หลังมีเสียงท้วงติงจากฝั่ง “ส.ส.พรรคก้าวไกล” ว่าด้วยการทำเนื้อหาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ....ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภาที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.

       ส่อขัดรัฐธรรมนูญหลักนิติวิธีเพราะเขียนเนื้อหาเกินหลักการที่รัฐสภาลงมติ

       ผสมโรงด้วย “ส.ว.” ในฐานะฝ่ายตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมาย ที่ให้ความเห็นเนื้อหาที่ กมธ.ปรับแก้ไขนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการก้าวล่วง อำนาจองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.)

       ทำให้ล่าสุด กมธ.แก้รัฐธรรมนูญนัดหารือด่วน และมีมติเสียงข้างมากขาดลอย ให้ถอย 5 มาตรา จากเดิมที่เสนอเนื้อหาไปทั้งสิ้น 9 มาตรา

162979983431

       ประเด็นที่ถอยนั้น ได้แก่ 1. มาตรา 85 ว่าด้วยการประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน จากเดิมที่กำหนดให้ กกต.ประกาศผลไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

       2. มาตรา 92 ว่าด้วยข้อกำหนดการชนะโหวตโน หรือ คะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. หากเขตใดผู้เลือกตั้งส.ส.ได้คะแนนน้อยกว่าโหวตโน ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และห้ามผู้สมัคร ส.ส.รายเดิมลงเลือกตั้งที่จะจัดใหม่ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่ที่แก้ไขคือ การตัดรายละเอียดที่นำไปคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับหลักการใหญ่

       3. มาตราที่ให้ยกเลิกมาตรา 94 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง เพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

       4. มาตราที่ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 105 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

       และ 5.บทเฉพาะกาล มาตราว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ภายใน 120 วัน และหากไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป กำหนดอำนาจ กกต. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปพลางก่อน

       เหตุผล ที่ถอย 5 ประเด็นนั้น มีสาระหลัก คือ 1. เพื่อไม่ให้มีประเด็นว่า กมธ.ได้ทำหน้าที่แก้ไขมาตราที่เกินหลักการ ซึ่งรัฐสภาลงมติมีเพียง 2 มาตรา ตามการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ คือ มาตรา 83 และ มาตรา 91

       และ 2. การใช้อำนาจนิติบัญญัติก้าวก่ายการทำงานของ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ทั้งประเด็นการกำหนดให้เร่งรัดประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน และการให้ กกต.ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เลือกตั้ง และวิธีเลือกตั้ง

       โดยกรณีที่เสนอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ กกต.นั้น มีนัยสำคัญที่สามารถตีความได้ว่า ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ เพราะ มาตรา 256(8)กำหนดว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับหน้าที่ หรืออำนาจขององค์กรอิสระ ที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรือมีอำนาจได้ก่อนการทูลเกล้าฯ ต้องจัดการออกเสียงประชามติตามกฎหมาย ว่าด้วยการออกเสียงประชามติก่อน

162979693347

       สิ่งที่น่ากังวลคือ การสูญเงินหลายพันล้านบาทในช่วงที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อแก้สถานการณ์โควิด-19 และการรณรงค์ให้ “โหวตคว่ำ” จากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียเวลายื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปโดยใช่เหตุ และการสิ้นเปลืองทรัพยากร หากฝั่งรัฐต้องระดมสรรพกำลังเพื่อให้ “ชนะโหวต” ตอนทำประชามติ

       อย่างไรก็ดี ในการถอย 5 มาตรานั้น สิ่งที่กมธ.ได้ไปคือการรุกฆาต เพราะยังคงมาตราหัวใจคือ ได้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 83 วรรคสอง ที่กำหนดให้ให้การเลือกตั้ง ส.ส.ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยเสรีโดยตรง และลับ

       ดังนั้น กมธ.เสียงข้างมากจึงยอมเสียหน้า เพื่อรักษาการคุมเกมการเมือง สร้างบรรยากาศที่ดี และรักษาน้ำใจของ ส.ว.ที่ยังละล้าละลัง ต่อการตัดสินใจลงมติวาระสาม เมื่อตัดปมคาใจออกไป การแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งรอบนี้จึงไม่มีอุปสรรคใดขวางอีก.