6 ภาวะอันตราย 'หญิงตั้งครรภ์' ติด 'โควิด' รุนแรง 3 เท่า

6 ภาวะอันตราย 'หญิงตั้งครรภ์' ติด 'โควิด' รุนแรง 3 เท่า

"หญิงตั้งครรภ์" เป็น 1 ใน 6 กลุ่มเสี่ยงที่ กทม.ให้ความสำคัญเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงของโรคที่รุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า

จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังสูงต่อเนื่อง ขยับยอดผู้ป่วยสะสม 2.43 แสนคน ยังเป็นสถานการณ์ป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะ "หญิงตั้งครรภ์" เป็นกลุ่มเสี่ยงเปราะบางที่มีความเสี่ยง โดยมีจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานี ยะลา และสงขลา

"กรมอนามัย" เปิดเผยตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค.2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 2,327 คน เสียชีวิต 53 คน และจากข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายงานเมื่อวันที่ 22 ส.ค. พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 รายในกรุงเทพฯ 

ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากการวิเคราะห์ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 ถึง 13 ส.ค.2564 พบว่า "หญิงตั้งครรภ์" ติดเชื้อโควิด มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1.85 % สูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป ในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ประมาณครึ่งหนึ่งยัง "ไม่ได้คลอดบุตร" 

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กมีประมาณ 1.8 % ซึ่งอาจเสียชีวิตก่อนคลอดหรือหลังคลอด รวมถึง "หญิงตั้งครรภ์" มีอัตราการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปกติ ส่วนอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกพบประมาณ 11 % ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดโดยตรงหรือจากการสัมผัสหลังคลอด

162971046621

นอกจากนี้มีข้อมูลที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยถึง "วัคซีน" ป้องกันโควิดพบว่า วัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัยต่อทั้งแม่และลูกในระดับที่นานาชาติรับรอง โดย "วัคซีนในแม่" สามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันโรคให้บุตร โดยหญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนเข็มแรกหลังอายุครรภ์ 3 เดือนทุกกลุ่มอายุของแม่ โดย "วัคซีน" ทุกชนิดและทุกยี่ห้อมีผลลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะสามารถฉีดกระตุ้นด้วย "วัคซีน" ต่างชนิดต่างยี่ห้อกันได้ และสามารถฉีดได้ในช่วงการให้น้ำนมบุตรด้วย 

ก่อนหน้านี้หน่วยงาน กทม.ได้ระดมฉีดวัคซีนกลุ่ม "หญิงตั้งครรภ์" โดยได้รณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขให้ทั่วถึงครบทุกคน เพื่อลดความเสี่ยงอาการหนักและต้องเข้าไอซียู โดยข้อมูล 23 ส.ค.2564 มี "หญิงตั้งครรภ์" รับวัคซีนแล้ว 4,688 โดส ภายหลังเปิด "วอล์กอิน" เข้ารับวัคซีนได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนไทยร่วมใจ 12 จุด ประกอบด้วย

1.SCB สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) 2.SCG บางซื่อ 3.โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง 4.เซ็นทรัล ลาดพร้าว 5.เซ็นทรัลเวิลด์ 6.สามย่านมิตรทาวน์ 7.โลตัส พระราม 4 8.เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ 9.มหาวิทยาลัยหอการค้า 10. สยามพารากอน 11.เดอะมอลล์ บางกะปิและ 12.เดอะมอลล์ บางแค 

162971050479

จากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังพุ่งสูงไม่ต่ำกว่า 4 พันคนต่อวัน กทม.ได้เร่งให้ "หญิงตั้งครรภ์" ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือหญิงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไปที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงและอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ขอให้ "ทำงานที่บ้าน" มากที่สุด และให้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากถือว่าเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงของโรคที่รุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า

"พล.ต.อ.อัศวิน" ระบุถึงรายงานจากต่างประเทศว่า การฉีดแบบ "ต่างชนิดต่างยี่ห้อ" ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง จึงไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนแต่ควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้ภูมิคุ้มกันขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน ในขณะที่ "โควิด" เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ประกอบด้วย

1.ภาวะความดันโลหิตสูง 

2.เลือดออกง่ายกว่าปกติ 

3.หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ 

4.รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด 

5.เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ 

6.สรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก 

สำหรับข้อแนะนำจาก กทม.ในการฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่ม "หญิงตั้งครรภ์" ที่จำเป็นควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะทุกอย่าง อาทิ ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆ เข้ามาแทรกซ้อน 

"หญิงตั้งครรภ์" เป็น 1 ใน 6 กลุ่มเสี่ยงที่ กทม.ให้ความสำคัญเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ร่วมกับอีก 5 กลุ่มตั้งแต่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" 70 % ของประชากรให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด.

162971055138