'โควิด-19' ภูเก็ต พบชาวเลแหลมตุ๊กแก ติดเชื้อแล้ว 82 คน

สถานการณ์ COVID-19 จ.ภูเก็ต ผลตรวจชาวเลแหลมตุ๊กแก พบติดเชื้อแล้ว 82 คน เร่งตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานประมงข้ามชาติหลังพบเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ขณะที่ท้องถิ่นไม่อนุญาตให้ใช้อาคารศูนย์เด็กเล็กสร้างศูนย์โควิด-19

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำตำบลรัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ร่วมออกหน่วยบริการประชาชนทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) บริเวณชุมชนหมู่บ้านชาวไทยใหม่ (ชาวเล) แหลมตุ๊กแก หมู่ที่ 4 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องเร่งทำการคัดกรองเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อไปแพร่ระบาดในพื้นที่อื่นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ จากการคัดกรองด้วยวิธี ATK จำนวน 602 ราย พบผู้มีผลบวก 82 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีรหัส 608 (กลุ่มเสี่ยง 7 โรค) หรือประมาณ 30-40% สำหรับผู้ติดเชื้อในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการตรวจคัดกรองดังกล่าวนั้น เชื่อมโยงมาจากแรงงานที่ทำงานภายในท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต (องค์การสะพานปลา) ซึ่งถือเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าทางผู้นำชุมชนแหลมตุ๊กแกได้ยื่นเรื่องเพื่อขอใช้อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากทางเทศบาลตำบลรัษฎา เพื่อใช้เป็นศูนย์โควิด-19 ชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้มีเชื้ออกจากชุมชน แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการอนุญาต ทำให้ต้องมีการนำผู้ที่ตรวจพบว่ามีเชื้อไปกักตัวในสถานที่ซึ่งรัฐจัดให้นอกพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีคำสั่งปิดการเข้าออกของแรงงานประมงข้ามชาติที่อยู่ในท่าเทียบเรือประมงองค์การสะพานปลา โดยห้ามออกจากพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจเชิงรุกแรงงานข้ามชาติด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) อย่างต่อเนื่องเพื่อทำการแยกกลุ่มผู้ป่วยออกจากพื้นที่ ซึ่งล่าสุดมีตัวเลขแรงงานข้ามชาติในกลุ่มนี้มีผลบวก กว่า 100 คน ซึ่งในส่วนของผู้ที่ตรวจและพบมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว จะแยกให้กักตัวอยู่บนเรือในทะเลบริเวณเกาะตะเภาน้อย เป็นเวลา 14 วัน เพื่อรอดูอาการ และจะมีทีมแพทย์คอยดุแลตามขั้นตอน ส่วนคนใดที่มีอาการในกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดงก็จะนำเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน นอกจากนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตยังได้มีการเข้าไปสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชุมชน ภายในท่าเทียบเรือดังกล่าวด้วย โดยรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 คน