'สมาคมแบงก์'ค้านธปท.สั่งแฮร์คัทหนี้ ฉุดงบดิ่ง-เอื้อลูกค้าเบี้ยวหนี้

'สมาคมแบงก์'ค้านธปท.สั่งแฮร์คัทหนี้ ฉุดงบดิ่ง-เอื้อลูกค้าเบี้ยวหนี้

"สมาคมธนาคารไทย"ส่งหนังสือด่วนถึงแบงก์ชาติ ค้านมาตรการแฮร์คัทลูกหนี้ หวั่นกระทบฐานะการเงิน -เอื้อลูกค้าเบี้ยวหนี้ ยื่นเงิื่อนไขสุดเข้ม “ขึ้นแบล็คลิสต์” ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ จับตาหนังสือเวียนส่อบังคับปรับหนี้ "วงใน"เผยรัฐบาลกดดันธปท.หนัก

สมาคมธนาคารไทย ส่งหนังสือลงวันที่ 18 ส.ค.2564 ลงนามโดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแสดงข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแนวทางการจัดชั้น และการกันเงินสำรองในระยะถัดไป เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในหนังสือปิดผนึกดังกล่าวสมาคมธนาคาร แสดงความกังวลถึงหนังสือเวียนของธปท.ที่จะส่งถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ย (Hair cut) ที่จะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรงของฐานะการเงินของสถาบันการเงิน และจะเป็นการสร้างพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ (Moral Hazard)

ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้น และการกันเงินสำรองให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากมาตรการช่วยเหลือตามหนังสือของธปท.ฝนส. (23) ว.276/2563 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.2564

กังวลข้อปฏิบัติตามหนังสือเวียนธปท.

หนังสือสมาคมธนาคารไทย ยังระบุว่า สมาคมธนาคารไทย เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่จะให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครง สร้างหนี้ให้ลูกหนี้แบบยั่งยืน เพราะการแก้ไขหนี้แบบชั่วคราว เช่น การพักชำระหนี้ เป็นเพียงแค่การประวิงปัญหาออกไปข้างหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ให้ตรงอาการกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และมีแนวโน้มว่า จะยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์มาก 

นอกจากนี้ จากการที่ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 และทีมงาน ธปท. ได้รับฟังความคิดเห็นจากธนาคารสมาชิกของสมาคมอย่างใกล้ชิด และพยายามช่วยหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การออกมาตรการที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงนั้น สมาคมและธนาคารสมาชิก ได้เห็นเพียงสไลด์กรอบแนวคิด และแนวทางที่ ธปท. จะใช้เป็นเกณฑ์จัดแบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็นสีฟ้า-ส้ม และข้อผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นและกันสำรองสำหรับกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวเท่านั้น

แต่สมาคมและธนาคารสมาชิก ยังไม่มีโอกาสได้เห็นร่างหนังสือเวียนที่จะออกจริงว่า มีนิยามหรือข้อความอย่างไร คณะกรรมการสมาคม จึงมีความกังวลและความห่วงใยในข้อความหรือตัวอย่างที่จะปรากฎอยู่ในหนังสือเวียนดังกล่าว หรือข้อความ รวมถึงอินโฟกราฟฟิกที่ ธปท.จะสื่อสาร

ค้านแฮร์คัทหนี้ทั่วไป

โดยเฉพาะประเด็นการ Hair cut เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับภาคธนาคารอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบต่อผลกำไร และสถานะเงินกองทุนของธนาคารเช่นเดียวกัน

ดังนั้นหากสื่อมวลชนหยิบยกประเด็นนี้ และสื่อสารชี้นำสังคมไปในทางทิศทางว่า ธปท.สนับสนุนให้สถาบันการเงิน Hair cut ให้ลูกหนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสถาบันการเงิน หากการสื่อสารไม่ระมัดระวัง และรัดกุมเพียงพอจะก่อให้เกิด Moral Hazard อันจะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ดีที่ยังจ่ายชำระตามปกติก็จะเข้ามาขอ Hair cut ด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการสมาคมเห็นว่า ลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสถาบันการเงิน ได้ Hair cut เงินต้นนั้น ลูกหนี้ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนสถาบันการเงินมีส่วนสูญเสียจำนวนมากแล้ว จึงเห็นว่าลูกหนี้เองก็ควรมีวินัย ไม่ไปก่อหนี้ใหม่จนเกินตัวอีกเช่นกัน เพราะอาจจะนำมาสู่ปัญหาภาระหนี้เกินตัวเช่นเดิมอีก

เสนอขึ้นแบล็กลิสต์ลูกหนี้แฮร์คัท

ทั้งเพื่อเป็นการป้องปรามลูกหนี้ที่ไม่ได้มีปัญหามากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อาจมีเจตนาไม่สุจริต อยากได้สิทธิ Haircut เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่ประสบปัญหามากกว่า และต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก 

คณะกรรมการสมาคม จึงเห็นความจำเป็นของการมี flag หรือใส่รหัสสถานะบัญชี เพื่อแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้รับ Hair cut ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นทราบและพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ก่อนที่สถาบันการเงินอื่นจะอนุมัติให้ลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มเติม

สมาคมจึงขอเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูสเครดิตประกาศใช้รหัส สถานะ 21 และ หรือ ให้ NCB เพิ่มรหัส “วัตถุประสงค์” หรือ Loan Objective ในทำนองเดียวกับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ที่มีรหัส “44444” เพื่อให้สถับนการเงิน ทราบว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษในระบบงานของ NCB ต่อไป 

เผยรัฐบาลกดดันแบงก์ชาติหนัก 

แหล่งข่าววงในจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ล่าสุด กรณีที่สมาคมธนาคารไทย มีการยื่นจดหมายปิดผนึกถึง ธปท. หลังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการออกนโยบายของธปท. โดยเฉพาะ การ Hair cut หนี้ หรือการให้มีการลดหนี้สินให้ต่ำกว่ายอดหนี้สินทั้งหมด หรือการปรับลดหนี้ในส่วนเงินต้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบใหม่

 การยื่นหนังสือถึงธปท.ครั้งนี้ สมาคมฯห่วงว่า การสนับสนุนมาตรการดังกล่าว หรือการสื่อสารเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิด Moral Hazard หรือการจงใจผิดนัดชำระหนี้ ทั้งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควด-19 อย่างแท้จริง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดการออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการ Hair cut นั้น ธปท.น่าจะได้รับแรงกดดันจากรัฐบาล เพื่อให้ธปท.มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ในภาวะที่ประชาชนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้จากผลกระทบโควิด-19 

“ก่อนหน้านี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้แบงก์ชาติทบทวน ในการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลดลง แต่แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับจากแบงก์ชาติ เพราะปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว อีกทั้งสถาบันการเงินก็มีแนวทางในการลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ ที่เข้าสู่โครงการช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆอยู่แล้ว ”

ฉะนั้นมองว่า การ Hair cut น่าจะเป็นโครงการที่เหมาะสมและสามารถทำได้ จึงเป็นที่มาที่ธปท.เริ่มมีการพูดถึงการ Hair cut ในช่วงที่ผ่านมา 

ผู้บริหารแบงก์ชาติเห็นต่าง

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ผู้บริหารระดับสูงธปท.บางส่วน ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการ Hair cut เพราะเกรงว่าทำให้ลูกหนี้จงใจเข้าสู่โครง การ แม้จะเป็นลูกหนี้ดี ซึ่งไม่เป็นการดีต่อธนาคารจึงอยากให้ทำมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวดีกว่า

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการเดินสาย และหารือร่วมกันกับสถาบันการเงินใหญ่ๆหลายแห่งไปแล้ว เกี่ยวกับโครงการนี้ไปแล้ว ขณะที่ท่าทีของสถาบันการเงิน ไม่ได้ปฏิเสธในการทำมาตรการดังกล่าว แต่ขอให้ธปท.มีความชัดเจน เกี่ยวกับมาตรการนี้ ที่ไม่สร้างความสบสนให้กับลูกหนี้ และสถาบันการเงิน

แบงก์ยื่นลดข้อปฏิบัติ

อีกทั้งการทำมาตรการดังกล่าว สถาบันการเงินถือว่าได้รับผลกระทบ และมีต้นทุน ดังนั้น ส่วนนี้สถาบันการเงินจึงมีการขอลดเงื่อนไขเกี่ยวกับเกณฑ์ปฏิบัติบางข้อ หรือมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วย เพื่อให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยืดหยุ่นในการช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น

“การให้แบงก์เข้าไปแฮร์คัทหนี้ให้ลูกหนี้ ไม่ใช่แบงก์จะไม่ทำ หากธปท.ออกมาตรการมาชัดเจน แต่ก็ต้องมีอะไรแลกเปลี่ยนให้แบงก์เหมือนกัน เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้ และไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่นหากจะให้แบงก์เข้าไปช่วย ธปท.อาจต้องผ่อนปรนเกณฑ์บางด้านให้สถาบันการเงินทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น”

ขึ้นแบล็กลิสต์ตัดโอกาสลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือปิดผนึกครั้งนี้ สมาคมฯยังมีการกล่าวถึง การใส่ Flag หรือใส่รหัสสถานะบัญชี ของลูกหนี้ในประวัติเครดิตบนข้อมูลของ NCB ด้วย สำหรับลูกหนี้ที่เข้าสู่การช่วยเหลือผ่านโครงการดังกล่าว เพื่อให้สถาบันการเงินเห็นถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ ก่อนติดสินใจให้ “เงินกู้”เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ซึ่งกรณีนี้ มองว่า การใส่รหัส ในบัญชีลูกหนี้ เหมือนการขึ้น “Blacklist”ลูกหนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรก ตั้งแต่มีการทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นการตัดโอกาสลูกหนี้ในการรับการช่วยเหลือ หรือกู้เงินในระยะถัดไปได้ ดังนั้นลูกหนี้อาจได้รับผลกระทบได้ในท้ายที่สุดได้

หากดำเนินการก็จะย้อนแย้งกับ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ที่ธปท.ระบุว่าหากลูกหนี้เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน จากผลกระทบโควิด-19 กลุ่มนี้จะไม่เสียเครดิต หรือเสียประวัติทางการเงิน และจะมีข้อมูลหรือสัญลักษณ์ หรือรหัส นำหน้าบัญชีลูกหนี้ในข้อมูลของเครดิตบูโร แต่กรณีแตกต่างกันสินเชิง เพราะสถาบันการเงิน และสมาคมธนาคารไทยเห็นว่า การช่วยเหลือลูกหนี้มีมากขึ้น ดังนั้นแบงก์จำเป็นต้องเห็นความเสี่ยงของลูกหนี้ด้วย

แบงก์หวั่นหนี้ 2 ล้านล้านมีปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายผยง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า ห่วงอย่างมากต่อสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้ เนื่องจากมาตรการเข้มงวดต่างๆ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ ที่แม้จะครบ 14 วัน แต่ไม่สามารถชะลอการติดเชื้อได้ ทำให้ภาครัฐต้องขยายเวลาออกไปและเพิ่มจำนวนจังหวัดมากขึ้น 

 ภาคธุรกิจธนาคาร ได้รับผลกระทบอย่างมาก  นอกจากจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และพบการติดเชื้อ จนต้องมีการเปิดๆ ปิดๆ สาขาตามที่ต่างๆมากมายแล้ว ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธปท.มากถึง 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นเงินราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ อาจกลายเป็นหนี้เสียได้หากเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน

ขณะที่ การรับรู้รายได้บางส่วนจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ไม่ได้มีการชำระจริง แต่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งที่สุดแล้วก็อาจจะต้องกลายเป็นหนี้เสีย แม้ว่าภาคธนาคารที่ดูเหมือนว่า จะแข็งแรงตั้งแต่ฟื้นตัวมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ขณะนี้บางธนาคารก็ต้องมีการเพิ่มกองทุนขั้นที่ 1 ผ่านการออกตราสารทุน AT-1 กันแล้ว เพื่อรองรับกับหน้าผา เอ็นพีแอลที่กำลังถาโถมสูงขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญจากการซื้อเวลา เพื่อไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

ดอกเบี้ยค้างรับดันแบงก์กำไร

ส่วนภาพรวมธุรกิจธนาคารในครึ่งหลังปี 2564 ว่า จากสถานการณ์วิฤกตโควิดที่ลากยาว และไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของภาคธุรกิจธนาคาร ดังนั้นภาคธนาคาร จึงต้องบริหารจัดการธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แม้ว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปี 2564 จะแสดงผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่บางส่วนเป็นการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับของมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้มีการชำระจริงและยังอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ ภาคธนาคารจึงยังคงให้ความสำคัญกับการกันสำรองอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต