‘ท่องเที่ยวฯ’ ถก ‘คลัง’ จัดซอฟท์โลน 8 พันล้าน รีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยวต่อลมหายใจฝ่าโควิด!

‘ท่องเที่ยวฯ’ ถก ‘คลัง’ จัดซอฟท์โลน 8 พันล้าน  รีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยวต่อลมหายใจฝ่าโควิด!

“พิพัฒน์” เข้าหารือ “อาคม” ขอคลังหนุนจัดซอฟท์โลนวงเงิน 8,000 ล้านบาทจาก “ออมสิน-เอสเอ็มอีแบงก์” หนุนรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมปรับเงื่อนไขใหม่จากใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน เปลี่ยนเป็นให้ค้ำกู้แบบไขว้กันได้ นำร่องปล่อยกู้แก่ 5 สมาคมท่องเที่ยว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขอให้กระทรวงการคลังช่วยพิจารณาจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน จากธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 8,000 ล้านบาท มาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว

“ทางกระทรวงการคลังได้รับทราบเรื่องนี้และพร้อมประสานธนาคารทั้ง 2 แห่งจัดเตรียมวงเงินให้แล้ว โดย เบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือเอกชนท่องเที่ยว 5 สมาคมก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยื่นหนังสือมายังกระทรวงการท่องเที่ยวฯเพื่อขอความช่วยเหลือ ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย หลังจากที่ผ่านมาภาคเอกชนกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก และยังได้รับผลกระทบจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย”

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้รับข้อเสนอของเอกชนท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการกู้เงินจากเดิมที่กำหนดให้ใช้สินทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ มาเป็นการกำหนดให้ผู้กู้ที่เป็นภาคเอกชนจาก 5 สมาคมนี้ สามารถค้ำประกันไขว้กันแทนได้ เช่น ค้ำไขว้กันระหว่างบริษัทต่อบริษัท หรือผู้บริหารตัวต่อตัว เนื่องจากมองว่าแนวทางนี้จะสามารถปลดล็อกการกู้เงินได้สะดวกมากกว่า และทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวงเงินได้ง่ายขึ้น โดยทางกระทรวงการคลังได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาและมอบหมายให้ธนาคารต่างๆ เร่งไปปรับเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อให้สามารถกู้เงินได้ภายในปลายเดือน ส.ค. หรือต้นเดือน ก.ย.2564

“ข้อเสนอเดิมของทางภาคเอกชนได้เสนอขอวงเงินซอฟท์โลน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมารีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ แต่ทางนายอาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าตอนนี้มีเงินอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยขอให้ค้ำไขว้กันได้ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเชิญผู้ประกอบการจากทั้ง 5 สมาคมท่องเที่ยวว่ามีรายใดต้องการสินเชื่อบ้าง และแต่ละรายต้องการวงเงินเท่าไร จากนั้นได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯไปหารือกับปลัดกระทรวงการคลังอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยจะเร่งทำให้เร็วที่สุด ส่วนวงเงินที่เหลือ นายอาคมบอกว่า หากเงินก้อน 8,000 ล้านบาทเต็มแล้ว อาจให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาปล่อยกู้ด้วยเพื่อให้ครบ 1 หมื่นล้านบาท” นายพิพัฒน์กล่าว

สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้จัดเตรียมซอฟท์โลนเพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

ขณะที่ธนาคารออมสินได้จัดสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว ใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99% และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก