'สำนักงบฯ' แจงงบฯกลางปี 65 สู้ 'โควิด' ชี้หน้าตักรัฐพอรับ 'วิกฤติ' แม้ไม่กู้เพิ่ม

'สำนักงบฯ' แจงงบฯกลางปี 65 สู้ 'โควิด'  ชี้หน้าตักรัฐพอรับ 'วิกฤติ' แม้ไม่กู้เพิ่ม

การจัดสรรงบประมาณเป็นงบกลางฯสำหรับรับมือกับโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2565 วงเงินรวม 1.63 หมื่นล้านบาท และประเด็นข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจว่าแนวความคิดในเรื่องนี้สามารถอธิบายถึงเบื้องหลังแนวคิดทั้งสองเรื่องนี้อย่างไร

การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 – 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และจะประกาศใช้ได้ก่อนวันที่ 1 ต.ค.2565

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมก็คือการแปรญัติปรับลดงบประมาณจากหลายหน่วยงานราชการเพื่อมาจัดสรรเป็นงบกลางฯสำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 และรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ เป็นวงเงินในงบประมาณ 2565 จำนวน 1.63 หมื่นล้านบาทที่เป็นงบกลางฯสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ "นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา" ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกี่ยวกับแนวคิดและความสำคัญในการจัดสรรงบกลางฯสำหรับโควิด-19 ในปีงบประมาณหน้า

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่าในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลเคยมีการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆมาสำหรับจัดสรรเป็นงบกลางฯสำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2565 เดิมไม่ได้มีการตั้งงบกลางฯสำหรับโควิด-19 ไว้

โดยแนวทางการใช้งบกลางฯสำหรับโควิด-19 หากดูจากในปี 2564 ส่วนใหญ่วงเงินส่วนนี้ถูกใช้ไปในด้านสาธารณสุข เช่น การจ่ายค่ายาเวชภัณฑ์ ค่าจัดซื้อวัคซีน และค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในด่านหน้า ดังนั้นการมีวงเงินงบประมาณมาเป็นงบกลางในปี 2565 อีก 1.6 หมื่นล้านบาทก็ถือว่าสามารถที่จะมาช่วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ในเดือน ม.ค.ตอนที่วางแนวทางในการจัดทำงบประมาณขณะนั้นประเทศไทยอยู่อันดับต้นๆของโลกที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้การวางแผนจัดทำงบประมาณในขณะนั้นจึงไม่ได้มีการตั้งงบกลางฯสำหรับโควิด-19เอาไว้ แต่มีการตั้งงบฯกลางรายจ่ายประจำปีกรณีฉุกเฉินและจำเป็นในภาพรวมเอาไว้ 8.9 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเมื่อเดือน เม.ย.เราเกิดการระบาดระลอกใหญ่ ตอนนั้นแนวทางที่รัฐบาลมีการหารือกันก็คือเรามีวงเงินจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมาใช้จ่ายในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ตั้งงบกลางฯสำหรับโควิด-19 ไว้

“เมื่อเทียบขนาดของวิกฤติกับงบกลางฯที่เรามีอยู่ในปีก่อน 4 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 อีก 1.6 หมื่นล้านบาทนั้นถือว่าเป็นวงเงินที่ไม่มากที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าการอนุมัติงบประมาณต่างๆที่ให้กับหน่วยงานรับประมาณ เช่น ทางการแพทย์และสาธารณสุขแต่ละครั้งเป็นวงเงินหลายพันจนถึงหมื่นล้านบาท อย่างที่เพิ่งมีการอนุมัติค่าตอบแทนพิเศษเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรด่านหน้าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าก็เป็นวงเงินถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ”

ในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาลมากว่าไม่มีการจัดงบประมาณสำหรับโควิด -19 ดังนั้นในชั้นกรรมาธิการเมื่อมีการปรับลดงบประมาณลงได้เป็นวงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ก็มีการหารือกันว่าแทนที่จะกระจายงบประมาณที่มีการปรับลดมาไปยังหน่วยงานอื่นๆก็ให้มีการมาตั้งเป็นงบกลางฯสหรับโควิด-19

ซึ่งการตั้งงบกลางฯโควิด-19 ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 เป็นการแสดงถึงเจตนาของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องการให้มีงบประมาณในการใช้จ่ายสำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะ และงบกลางฯส่วนนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของเงินกู้ฯตาม พ.ร.ก.เพิ่มเติมที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาทด้วย

สำหรับการใช้จ่ายเงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาทนั้นในชั้นต้นมีการวางกรอบว่าเป็นวงเงินในด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท วงเงินสำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท และวงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเงินกู้สามารถที่จะบริหารจัดการได้ หากมีความต้องการที่จะใช้วงเงินด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมเนื่องจากการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นหรือยาวนานกว่าที่คาดไว้ก็สามารถที่จะบริหารจัดการในส่วนนี้ได้

162947066680

นายเดชาภิวัฒน์ยังกล่าวต่อว่าในขณะนี้หากพิจารณาจากวงเงินที่มีทัั้งงบกลางฯปี 2565 และงบเงินกู้ ความพอเพียงของวงเงินของรัฐบาลในการบริหารจัดการโควิด-19นั้นยังถือว่ามีเพียงพอเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณประกาศใช้ ซึ่งมีงบกลางฯปี 65 วงเงิน 8.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางฯสำหรับโควิด-19 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท รวมกับเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังถือว่ารัฐบาลมีหน้าตักเพียงพอที่จะแก้ปัญหาโควิด-19 โดยสามารถที่จะใช้จ่ายได้โดยยังไม่ต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทยังไม่ได้มีการขออนุมัติใช้จ่ายมากนัก 

หากนับไปจนถึงสิ้นปีนี้จากวงเงินกู้และกรอบเงินที่รัฐบาลมีอยู่สามารถที่จะใช้จ่ายในการแก้ปัญหาวิกฤติได้ถึงเดือนละ 1 แสนล้านบาทซึ่งในความเป็นจริงก็ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายมากถึงขนาดนั้นจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะกู้เงินเพิ่มเติมแต่อย่างใด

“หัวใจในการแก้ปัญหาโควิด-19 ยังขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการนำเข้า การฉีดวัคซีนให้รวดเร็วภายในปีนี้ให้ได้ประมาณ 70% ของประชากร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดจำนวนลงอย่างมาก และจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งรัฐบาลคงจะมีการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหลังจากที่สามารถควบคุมโควิด-19ได้แล้ว” นายเดชาภิวัฒน์ ระบุ