สธ.เผยไม่ฉีด 'วัคซีนโควิด' ตายมากกว่าฉีด 100 เท่า

สธ.เผยไม่ฉีด 'วัคซีนโควิด' ตายมากกว่าฉีด 100 เท่า

สธ.เผยผู้เสียชีวิตสัปดาห์ล่าสุด ไม่เคยได้รับวัคซีน 60 % รับวัคซีนครบโดส 0.6 % ต่างกัน 100 เท่า

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 651,606 โดส  แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน  442,435 ราย เข็มที่ 2 ราย 201,318 ราย และเข็มที่ 3 7,853 ราย  ฉีดสะสมแล้ว 25,818,666 โดส  เป็นเข็มที่  1 จำนวน 19.586,666 ราย เข็มที่ 2  จำนวน 5,705,200 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 527,457 ราย มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว คิดเป็น 27.2% ครบ 2เข็ม 7.9 %

ผลการให้บริการแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงมี.ค.-พ.ค. 4 ล้านโดส  มิ.ย. 6 ล้านโดส ก.ค.8 ล้านโดส และส.ค.ถึงวันที่ 19 ส.ค. 7.8 ล้านโดส คาดว่าถึงสิ้นเดือนส.ค.อย่างน้อย 10 ล้านโดส   โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค 12,099,070 โดส   แอสตร้าเซนเนก้า 10,897,029 โดส ซิโนฟาร์ม 2,339,330 โดส และไฟเซอร์ 483,237 โดส รวม 25.8 ล้านโดส       

 

        

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนแล้ว คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อสม.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 60 ปีขึ้นไปหญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งหากสามารถทำให้กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ได้รับวัคซีนได้ ทำให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทย ส่วนการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในประเทศไทย ฉีดสะสมแล้ว 356,337 ราย  โดย 5อันดับแรกที่ฉีดมากที่สุด คือ เมียนมา จีน กัมพูชา ลาวและญี่ปุ่น   

ความเสี่ยงในการเสียชีวิต ซึ่งล่าสุด  240 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ที่กทม,และปริมณฑลที่มีการระบาดรุนแรงมาก่อน  สัญชาติไทยเป็นหลักแต่มีเมียนมาและจีนด้วย  อายุ 60 ปีขึ้นไป 162 ราย คิดเป็น 68 % ผู้มีโรคเรื้อรัง 46 ราย คิดเป็น 19 %  รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 87 %

สำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 และประวัติได้รับวัคซีนช่วง 25ก.ค.-19ส.ค. 2564 แยกเป็น 1.ผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 26 ราย คิดเป็น 0.6 %  อายุน้อยกว่า 60 ปี 21 ราย มากกว่า 60 ปี 5 ราย  ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 24 ราย ได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม 1 ราย และได้รับซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ  1 ราย 2.ได้รับแอสตร้าฯ 1 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ 316 ราย ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 4 สัปดาห์  118 ราย 3.ไม่ได้รับฉีดวัคซีน 2,969 รายคิดเป็น 63.8 % และไม่มีข้อมูลได้รับวัคซีนในหมอพร้อมและข้อมูลไม่ตรงกัน 874 ราย อย่างที่ทราบว่าโอกาสการเสียชีวิตจะลดลงเมื่อได้รับวัคซีน แต่ก็ยังเกิดขึ้นได้ในรายที่มีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ

“แนวโน้มของการเสียชีวิต ปัจจุบันสัปดาห์ละประมาณ 1 พันรายเป็นยอดรวมสะสม 7 วัน จะเห็นว่าช่วง 3 สัปดาห์ล่าสุดในกทม.เริ่มชะลอตัวและไม่ได้เพิ่มขึ้นอีก มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และปริมณฑลอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน  โดย 2 ส่วนนี้รวมกันประมาณ 50-60 % ขณะที่ข้อมูลเฉพาะกทม.ที่มีการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุสูงที่สุด ณ เวลานี้  โดยต้นก.ค.32 % .ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ถึงต้นส.ค.เป็น 86 % ปัจจุบันอยู่ที่ราว 92 % มีผลช่วยทำให้ลดโอกาสการป่วยหนักและเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยเสียชีวิตใน 7 วันไม่ได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างคงที่   ดังนั้นเมื่ออนุมานโดยรวม ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่กทม.สำหรับผู้สูงอายุทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง”นพ.โสภณ กล่าว  

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า   เป้าหมายที่จะช่วยให้การเสียชีวิตดลงอีก จะขยายการดำเนินการในส่วนนี้  โดยผู้สูงอายุในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีความครอบคลุมอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 63 %   ขณะที่สธ.ตั้งเป้าหมายว่าจะให้ผู้สูงอายุในจังหวัดเหล่านี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70 % ภายในสิ้นเดือนส.ค. ซึ่งจะต้องดำเนินการเพิ่มอีก 424,454 โดสถึงจะเป็นไปตามเป้า คาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการ ดังนั้น ถ้าประชาชนช่วยพาผู้สูงอายุในครอบครัวมารับวัคซีนในช่วงเดือนนี้ก็จะได้เห็นผู้สูงอายุใน 13 จังหวัดนี้มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด19 ส่วนจงหวัดอื่นๆ ตั้งเป้าภายในส.ค.ต้องได้รับอย่างน้อย 1 เข็ม 50 %

“ส่วนแผนของเดือนก.ย.วัคซีนส่วนใหญ่จะไปในพื้นที่ต่างจังหวัด เน้นฉีดผู้สูงอายุและและผู้มีโรคเรื้อรัง เพื่อให้ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่อื่นๆได้เพิ่มสูงขึ้นให้ได้มากที่สุด อย่างน้อย 70%ในทุกพื้นที่ หวังว่าด้วยการฉีดวัคซีนที่เร็วและกระจายทั่วถึง จะทำให้ภาพรวมของการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตของพื้นที่ต่างๆได้ผลดีขึ้น”นพ.โสภณกล่าว