'สกพอ.' เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ - จีน 17 ชุมชน 'อีอีซี' 2.8 หมื่นคน

'สกพอ.' เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ - จีน 17 ชุมชน 'อีอีซี' 2.8 หมื่นคน

"สกพอ." เปิดปฐมนิเทศ โครงการโรงเรียนต้นแบบ เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ-จีน สู่ครู นักเรียนระดับมัธยมกว่า 2.8 หมื่นคน พัฒนาอนาคตเด็กไทย ยกคุณภาพชีวิตชุมชน กว่า 17 แห่งในพื้นที่ "อีอีซี"

(เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564) ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี  ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในกิจกรรมปฐมนิเทศโครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการ โรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตพื้นที่ อีอีซี (การใช้ภาษาอังกฤษ-จีน) ในระดับมัยธมศึกษาและโรงเรียนเครือข่าย ภายใต้โครงการกองทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2563 - 2564 เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาสู่ ระดับสากลในการใช้ภาษาต่างประเทศ โดยมี รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา  ดร.เพ็ชร ชินบุตร ผู้บริหารกองทุนอีอีซี พร้อมด้วยผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และคณะครูจากโรงเรียนในพื้นที่อีอีซี เข้าร่วมกว่า 150 คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์  (Zoom Meeting)

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า อีอีซี ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา ขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในมิติด้านการศึกษา โดยการพัฒนาเทคนิคการสอนและเพิ่มเติมองค์ความรู้รายวิชาภาษาอังกฤษและภาษาจีนให้แก่กลุ่มครู มุ่งสร้างเครือข่ายของครูในพื้นที่ และพัฒนาให้เป็นครูต้นแบบ ขยายองค์ความรู้ไปยังภายในและภายนอกโรงเรียน 

โดยโครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศฯ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีอีซีกว่า 17 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน 13 แห่ง และวิทยาลัย 4 แห่ง มีครูที่สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนรวมกว่า 60 คน และมีนักเรียนในสังกัด รวมกว่า 28,000 คน 

ซึ่งจะสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ และร่วมกันจัดการศึกษาทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาและกำลังคนให้ได้มาตรฐานสากล และตอบโจทย์การ “สร้างอนาคต ผ่านการศึกษา” และการผลิตบุคลากรได้ตรงความต้องการ (อีอีซีโมเดล) เยาวชนมีงานมั่นคงในอนาคต ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และอีอีซี จะเป็นต้นแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการ ฯ ดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา อีอีซี ได้พัฒนาการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้เรียนให้ทัดเทียมสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะในการทำงานให้มีรายได้สูงในอนาคต โดยใช้วิธีการ Content-Language Integrated Learning (CLIL) เน้นเทคนิคการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาอังกฤษให้เข้ากับเนื้อหาวิชาชีพในทุกวิชา การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของครูระดับอาชีวะ และปรับสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษในสถานศึกษาให้เยาวชนเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น

ด้าน ดร.เพ็ชร ชินบุตร กล่าวเสริมว่า อีอีซี และสถาบันการศึกษา พร้อมจะทำงานเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ให้แก่กลุ่มครู และนักเรียนในพื้นที่อีอีซี ตามโครงการ ฯ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษและจีน  ซึ่งจะเป็นการ ยกระดับสมรรถนะของบุคลากร ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาด้านภาษาสำหรับนักเรียนและเยาวชน จะเป็นการสร้างโอกาสทั้งด้านการศึกษาเพิ่มเติม ที่ข้อมูลการเรียนรู้สำคัญๆ ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งการเข้าถึงตำแหน่งงานที่มีรายได้สูง ในอนาคต