ไขข้อสงสัย! รวบรวมทุกเรื่องที่ 'หญิงตั้งครรภ์'ควรรู้ เมื่อติดโควิด-19

ไขข้อสงสัย! รวบรวมทุกเรื่องที่ 'หญิงตั้งครรภ์'ควรรู้ เมื่อติดโควิด-19

“หญิงตั้งครรภ์” เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดโควิด-19 จำนวนมาก ล่าสุดข้อมูลตั้งแต่ระหว่าง 1 เม.ย.- 18 ส.ค.2564 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 2,327ราย เสียชีวิต 53 ราย ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย

วานนี้ (19 ส.ค.2564) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ว่าการติดเชื้อหญิงตั้งครรภ์ เฉลี่ยวันละ 2-3 ราย และไม่ได้เสียชีวิตเฉพาะหญิงตั้งครรภ์แต่ทารกในครรภ์ก็เสียชีวิตร่วมด้วย โดยขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 20,000 กว่าคน แต่ในจำนวนดังกล่าวก็ได้ไม่ถึง 10%

  • เช็คปัจจัยเสี่ยง 'หญิงตั้งครรภ์' ติดเชื้อโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิดระหว่าง 1 เม.ย.-18 ส.ค.2564 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 2,327 ราย แบ่งเป็นคนไทย 1,590ราย คนต่างด้าว 737 ราย เคยรับวัคซีน 22 ราย ซึ่งในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ เสียชีวิต 53 ราย แบ่งเป็นคนไทย 40 ราย ต่างด้าว 10 ราย ไม่ระบุ 3 ราย ขณะที่ทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย

162938894366

ใน 10 จังหวัดที่มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 462 ราย สมุทรสาคร 356 ราย ปทุมธานี 97 ราย ยะลา 82 ราย สงขลา 80 ราย พระนครศรีอยุธยา 76 ราย นราธิวาส 75 ราย สมุทรปราการ 74 ราย ขอนแก่น 56 ราย และสุรินทร์ 50 ราย

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่าเมื่อวิเคราะห์จากการตายของมารดาที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 53 ราย พบว่า ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อ้วน 8 ราย อายุ 32 ปีขึ้นไป 13 ราย เบาหวาน 3 ราย ความดันโลหิตสูง 3 ราย ใช้สารเสพติด 1 ราย โรคธาลัสซีเมีย 3 ราย

ส่วนแหล่งสัมผัสเชื้อ ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากบุคคลในครอบครัว 12 ราย สถานที่ทำงาน 7 ราย ตลาด 3 ราย งานเลี้ยง 1 ราย ไม่มีข้อมูล 30 ราย

  • 'หญิงตั้งครรภ์' เสี่ยงติดเชื้อโควิดมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า 

ขณะนี้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ สตรีตั้งครรภ์ ติดเชื้อมากมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมคำถามและไขข้อข้องใจดังนี้ ตรีตั้งครรภ์ ถ้าติดโควิด-19 มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยมีโอกาสเข้าห้องไอซียูสูงกว่า 2-3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 2.6-2.9 เท่า เสียชีวิต 1.5-8 คน ใน 1,000 คน

ขณะเดียวกันถ้า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ จะมีผลต่อลูกในหลายอย่าง อาทิ คลอดลูกก่อนกำหนด 1.5 เท่า เด็กตายคลอด 2.8 เท่า ลูกต้องเข้าไอซียู 4.9 เท่า ลูกติดเชื้อได้ 3-5% แต่ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ

สตรีตั้งครรภ์ควรจะไปตรวจหาเชื้อโควิด หากมีคนในครอบครัวติดเชื้อ และหากมีอาการ เช่น ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก และเบื้องต้นขอให้ตรวจ ATK แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน

162938911262

สำหรับอาการที่หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด พบมีดังนี้ 50% จะมีอาการไอ 43% ปวดศีรษะ 37%ปวดกล้ามเนื้อ 32%ไข้ 28%เจ็บคอ 26% หายใจเหนื่อย 22%จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้น และ 14% อ่อนเพลีย

หากสตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่แสดงอาการหรืออาการน้อย ขอให้แยกกักตัวรักษาที่บ้าน แต่หากมีอาการมากขึ้นขอให้เข้ารับการรักษาในรพ.เพื่อแยกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ประเมินอาการและความรุนแรงของโรค ให้การรักษาร่วมกับทีมอายุรแพทย์

นอกจากนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ สามารถคลอดได้ปกติ ไม่ต้องผ่าท้องคลอด สามารถให้การระงับความรู้สึกด้วยการบล็อคหลังได้ และการผ่าท้องคลอดจะทำตามข้อบ่งชี้ที่แพทย์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ออกประกาศ 'หญิงตั้งครรภ์' ทำงานที่บ้าน ลดเสี่ยงติดโควิด-19

                  หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด19เกือบ 2 พันราย เสี่ยงอาการหนักกว่า 3 เท่า

                  'หญิงตั้งครรภ์' เสียชีวิตจากโควิด 3 ราย อุบลฯ ตราด ยะลา

  • ตอบทุกคำถามที่ 'หญิงตั้งครรภ์'ควรรู้

หากติดเชื้อหลังคลอด หากไม่พบเชื้อในตัวลูกมารดาสามารถกอดและอุ้มลูกได้ แต่ควรงดหอมแก้มลูก และควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก ที่สำคัญต้องไม่ไอหรือจามใส่ลูก เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากพบว่าลูกติดเชื้อรุนแรงจะต้องแยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด

นพ.เอกชัย กล่าวด้วยว่าถ้าแม่ติดเชื้อสามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แต่แม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังจับตัวลูก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัตถุที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือใช้วิธีปั้มนมออกมาแล้วให้ญาติหรือพี่เลี้ยงเอาไปให้ลูกกิน แต่หากแม่ที่ติดเชื้อและได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ จะต้องงดให้นมลูก

ที่สำคัญสตรีตั้งครรภ์ควรรีบฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้น ซึ่งชนิดของวัคซีน ใช้ได้หลากหลาย เช่น ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า หรือแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ mRNA 2 เข้ม 

162938896417

ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีน พบได้น้อยและไม่แตกต่างจากคนทั่วไป หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ยกเว้นจำเป็น การฉีดวัคซีนชนิดอื่นควรเลื่อนไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

ส่วนถ้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไปแล้ว พบว่าตั้งครรภ์สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เพราะปัจจุบันไม่พบว่าวัคซีนทำให้เกิดทารกพิการแต่กำเนิด แต่ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปฉีดในช่วงหลังเมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ต้องปฎิบัติตามมาตรการ DMHTT ในครอบครัวที่มีความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ประเมินไทยเซฟไทย ถ้ามีความเสี่ยงตรวจ ATK กำหนดหรือสนับสนุนมาตรการWFH ในหญิงตั้งครรภ์